สศอ. ทุ่มงบกว่า 300 ล้านลุย 43 โครงการใหญ่ เพิ่มทักษะบุคลากร พัฒนาโรงงาน ภายใต้แผนแม่บท Productivity หวังดันอุตฯไทยสู่บัลลังก์แชมป์
สศอ. ทุ่มงบกว่า 300 ล้านลุย 43 โครงการใหญ่ เพิ่มทักษะบุคลากร พัฒนาโรงงาน ภายใต้แผนแม่บท Productivity หวังดันอุตฯไทยสู่บัลลังก์แชมป์
ชู แผนแม่บท Productivity - โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ขับเคลื่อนอุตฯไทยสู่แชมป์ เผย ปี 54 ทุ่มงบ 321.2 ล้านบาท ลุย 43 โครงการใหญ่ เพิ่มทักษะบุคลากรคุณภาพกว่า 12,645 คน พัฒนาโรงงาน ในทุกด้านกว่า 900 โรง รวมทั้งนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ มั่นใจสร้าง อุตฯ ไทยแกร่งอย่างยั่งยืน
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2554 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสากรรม (สศอ.)ได้ดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพภาคอุตสาหกรรม (Productivity) และ แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา รวมทั้งสิ้น 321.2 ล้านบาท ผ่านการดำเนินโครงการ 43 โครงการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก และตอกย้ำความเป็นผู้นำของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเวทีอาเซียน ได้อีกทางหนึ่ง
“จากการดำเนินโครงการ ภายใต้แผนแม่บททั้ง 2 แผน ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แม้จะมีงบประมาณในจำนวนที่จำกัด แต่เราสามารถพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยได้รุดหน้าเป็นอย่างมาก เช่น ปีที่ผ่านมา(2553) ภายใต้แผน Productivity เราได้งบประมาณทั้งสิ้น 249.7 ล้านบาท ดำเนินโครงการคลอบคลุม 14 สาขาอุตสาหกรรม สามารถพัฒนาบุคลากรได้กว่า 27,257 คน ช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ประกอบการกว่า 691 โรงงาน สนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น หากเทียบเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการถือว่าสูงมาก
ขณะที่ แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ได้งบประมาณทั้งสิ้น 78 ล้านบาท ครอบคลุม 6 สาขาอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการทั้งสิ้น 10 โครงการ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เช่น ได้มีการพัฒนานวัตกรรมเตาเผาเซรามิค ด้วยเชื้อเพลิงจากถ่านหิน บิทูมินัส เพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงที่เดิมผู้ประกอบการต้องใช้เชื้อเพลิงจากก๊าช LPG ซึ่งโครงสร้างราคา ณ ปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
เนื่องจากภาครัฐยังให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงชนิดนี้อยู่ หากรัฐปล่อยลอยตัวราคาก๊าช LPG จะทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เดือดร้อนมาก โดยได้ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสนใจ พร้อมที่จะนำนวัตกรรมภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาไปใช้ในการดำเนินกิจการ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าพอใจ”
นางสุทธินีย์ กล่าวอีกว่า ในปี 2554 สศอ.จะได้ดำเนินโครงการให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อเป็น การต่อยอดความสำเร็จ และสร้างความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยแผนแม่บท Productivity ได้เพิ่มจำนวนสาขาอุตสาหกรรมให้มากขึ้นเป็น 19 สาขา จาก 14 สาขา จำนวน 38 โครงการ
ซึ่งโครงการส่วนใหญ่จะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้กับอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่หลักปฏิบัติที่เป็นเลิศในการผลิตและรักษาระบบ Green Productivity เพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน
โครงการยกระดับการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารไทยด้วยการลดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาด้านการเพิ่มผลผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งโครงการต่างๆภายใต้แผน Productivity จะทำให้มีการพัฒนาทักษะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่า 12,645 คน และยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมสู่การเพิ่ม Productivity ไม่น้อยกว่า 900 โรงงาน
ขณะที่ แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เพิ่มจำนวนสาขาอุตสาหกรรมที่ดำเนินโครงการเป็น 9 สาขา จาก 6 สาขา โดยในปีนี้ได้จัดทำ 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมการผลิตเชิงอิเล็กทรอนิกส์ (E-Manufacturing) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โครงการพัฒนานวัตกรรมระบบสมองกลฝังตัวและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อกระบวนการผลิตเชิงนิเวศน์ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืนด้วยระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานสากล(ISO 50001)
โครงการผลิตเม็ดพลาสติกผสมระหว่าง โพลิสไตรีนชนิดทนแรงกระแทกสูง กับโพลีทิลีนชนิดความหนาแน่นสูงที่ทนสารเคมี โดยใช้โคพอลิเมอร์สไตรีน/ เอทิลีน-บิวทีลีนสไตรีนเป็นตัวช่วยผสม และ โครงการขับเคลื่อนระบบสมรรถนะสู่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้มีนวัตกรรมเกิดใหม่อย่างน้อย 2 นวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ 5 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มทักษะบุคลากรไม่น้อยกว่า 100 คน และโรงงานที่สามารถประยุกต์ใช้ระบบมาตรฐาน ไม่น้อยกว่า 80 โรงงาน
“การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แผนแม่บท Productivity และ แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ถือว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการวางรากฐานของภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทย ถือว่าก้าวมายืนเป็นแถวหน้าในหลายสาขา การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเท่านั้นจึงจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งที่ยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก” นางสุทธินีย์ กล่าว