1. ครม.ไฟเขียวแรงงานนอกระบบจ่าย 100 บาทรับบำเหน็จชราภาพ
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพรฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราจ่ายเงินสมทบ ให้แก่แรงงานนอกระบบ ที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยให้สำนักงานประกันสังคมขยายความคุ้มครองประกันสังคม ใน 2 ทางเลือก ได้แก่ 1. จ่ายสมทบ100 บาทต่อเดือน โดยประชาชนจ่าย 70 บาท รัฐอุดหนุน 30 บาท 2.จ่ายสมทบ 150 บาทต่อเดือน ประชาชนจ่าย 100 บาท รัฐอุดหนุน 50 บาท
โดยแรงงานนอกระบบที่ประสงค์รับบำเหน็จชราภาพเพิ่ม สามารถจ่ายสมทบเพิ่มได้ ทั้งนี้คาดว่าจะมีแรงงานนอกระบบ สนใจสมัครเข้าประกันสังคมปี 54 จำนวน 2.4 ล้านคน แบ่งเป็น กทม. 6 แสนคน ปริมณฑล 1.2 แสนคน ต่างจังหวัด 1.68 ล้านคน
- สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายการให้แรงงานนนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายประชาภิวัฒน์ของรัฐบาลในการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมให้คนมีการออม โดยรัฐมีเป้าหมายที่จะขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 24 ล้านคน
2. กระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกปี 53 ขยายตัวร้อยละ 28.14 ต่อปี
- กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการส่งออกสินค้าในเดือน ธ.ค.53 มีมูลค่า 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 18.8 ต่อปี ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 16.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.5 ต่อปี ส่งผลให้ทั้งปี 53 การส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 195.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 28.1 ต่อปี ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 182.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 36.5 ต่อปี ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าในปี 53 จำนวน 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- สศค.วิเคราะห์ว่า การส่งออกขยายตัวในระดับสูงกว่าที่ก.พาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 14.0 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัว และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก ทั้ง สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 31.8 ของการส่งออกรวม) มีการขยายตัวดีที่ร้อยละ 21.2 33.2 และ 29.8 ต่อปี ตามลำดับ โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา และเครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องขยายตัวร้อยละ 48.3 70.5 และ 36.3 ต่อปี ตามสำดับ ทั้งนี้ ในปี 54 สศค. คาดว่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.2 – 14.2)
3. มติที่ประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม EU เห็นชอบให้ใช้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปอย่างเต็มศักยภาพ
- นาย Olli Rehn European Union Economic and Monetary Affairs Commissioner กล่าวว่า มติที่ประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม EU เห็นชอบให้ใช้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปอย่างเต็มศักยภาพ
โดยในส่วนตัวเห็นว่า สหภาพยุโรปต้องปรับปรุงกลไกความช่วยเหลือทางการเงินในปัจจุบัน ซึ่งมีวงเงินกว่า 750 พันล้านยูโร (หรือประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้สามารถใช้วงเงินดังกล่าวได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้นักลงทุนทั่วโลกคลายความกังวลต่อความสามารถของประเทศในยุโรปในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ ซึ่งกลไกดังกล่าวเพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มวงเงินช่วยเหลือ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณในยุโรปผ่อนคลายลง ในช่วงสัปดาห์ทีผ่านมา ส่วนหนึ่งจากการประกาศจะเข้าซื้อพันธบัตรสกุลยูโรของประเทศญี่ปุ่นและจีน ประกอบกับการที่ธนาคารกลางยุโรปเข้าซื้อพันธบัตรยูโรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนตอบรับการขายพันธบัตรของรัฐบาลโปรตุเกสอายุ 10 ปี มูลค่ากว่า 599 ล้านยูโร
ทำให้อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการเพื่อประกันความเสี่ยง (CDS) ของพันธบัตรดังกล่าว เมื่อเทียบกับ CDS ของพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันปรับลดลงประมาณ 46 จุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ การปรับปรุงเงื่อนไขการขาดดุลการคลังและการก่อหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มยูโรที่อาจมีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปในระยะต่อไป
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง