การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ออกโรงแจงกรณีรอยร้าวบริเวณฐานรากของทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี) ซึ่งเปิดได้ใช้บริการมากว่า 8 ปี แล้ว ยืนยันความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ หลังเข้าตรวจสอบและประเมินความแข็งแรงของโครงสร้าง
. |
ทางพิเศษบูรพาวิถี ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการรับน้ำหนัก รวมถึงรอยร้าวดังกล่าวสามารถซ่อมแซมได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจตรวจสอบ ซึ่งทางคณะที่ปรึกษาฯ จะสรุปเรื่องพร้อมเสนอวิธีการซ่อมแซมให้ กทพ. ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 นี้ |
. |
จากกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวรอยร้าวบริเวณฐานรากของทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี) ว่าอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางพิเศษฯ และความปลอดภัยของผู้ใช้บริการนั้น |
. |
นายเผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวว่า ทางพิเศษบูรพาวิถี ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 และตรวจพบรอยร้าวบริเวณฐานรากในปี 2543-2545 ซึ่งได้แจ้งบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง (JV-BBCD) ดำเนินการซ่อมแซม หลังจากนั้น กทพ. ได้ตรวจสอบโครงสร้างฯ อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามปลายปี 2547 กทพ. ได้ตรวจพบรอยร้าวอีกจำนวนหนึ่งบริเวณฐานราก และได้ติดตามลักษณะของรอยร้าวที่พบมาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 กทพ. ได้ดำเนินการจ้างคณะที่ปรึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าทำการตรวจสอบและประเมินความแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งทางที่ปรึกษาฯ นำโดย ดร.ชัยชาญ สุทธิกานต์ และ ดร.สุวิมล สัจจวนิชย์ ได้รายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้น โดยได้สำรวจฐานรากที่อยู่เหนือดิน จำนวน 584 ฐาน จากฐานรากทั้งหมดที่มีอยู่เหนือดินและใต้ดินจำนวน 1,278 ฐาน จำแนกรอยร้าวได้ 3 ระดับ ดังนี้ |
. |
ระดับที่ 1 มีความเสียหายมาก (รอยร้าวยาวมากกว่า 0.50 เมตร กว้างมากกว่า 0.1 มิลลิเมตร) จำนวน 130 ฐาน แบ่งเป็น - 39 ฐาน รอยร้าวลึกน้อยกว่า 20 เซนติเมตร - 26 ฐาน รอยร้าวลึกระหว่าง 20-25 เซนติเมตร - 65 ฐาน รอยร้าวลึกมากกว่า 25 เซนติเมตร ระดับที่ 2 มีความเสียหายน้อยกว่าระดับ 1 จำนวน 229 ฐาน ระดับที่ 3 เกือบไม่มีรอยร้าว จำนวน 38 ฐาน สภาพดี ไม่มีรอยร้าว จำนวน 139 ฐาน สำรวจไม่ได้ เพราะอยู่ในน้ำ จำนวน 48 ฐาน |
. |
สาเหตุรอยร้าวคาดว่า อาจเกิดจากการควบคุมอุณหภูมิขณะเทคอนกรีตไม่ใช่สาเหตุมาจากการรับน้ำหนักเนื่องจากการใช้งาน ทั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ยืนยันว่ารอยร้าวบริเวณฐานรากดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างยังคงรับน้ำหนักได้เพราะคอนกรีตมีกำลัง (Strength) เกินค่าที่ออกแบบไว้และการเสริมเหล็กก็เพียงพอ สำหรับการซ่อมแซมรอยร้าว ที่ปรึกษาได้เสนอให้มีการซ่อมแซมโดยใช้กาว Epoxy อัดฉาบปิดรอยร้าวดังกล่าวได้ ยกเว้นรอยร้าวที่ลึกกว่า 25 เซนติเมตร ที่ปรึกษาจะนำเสนอวิธีการซ่อมแซมภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 |
. |
ดังนั้น ผู้ใช้บริการทางพิเศษบูรพาวิถีจึงมั่นใจได้ว่าทางพิเศษบูรพาวิถียังคงมีความปลอดภัยในการใช้งานตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยทุกประการ |