1. ส.อ.ท. จี้รัฐออกมาตรการเยียวยาลอยตัวแอลพีจี-ขึ้นค่าไฟฟ้า
- เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการเร่งรัฐปฏิบัติการด่วนเพื่อคนไทยที่จะลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือน จะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมเซรามิคมากที่สุดเนื่อจากใช้แอลพีจี 60 – 80%
- สศค.วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันราคาแอลพีจีตลาดโลกอยู่ที่ตันละ 929 ดอลลาร์หสรัฐฯ ในขณะที่ราคาแอลพีจีในไทยอยู่ที่ตันละ 333 ดอลลาร์หสรัฐฯ จากการที่รัฐบาลมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ม.ค.54 ในการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มและขึ้นค่าไฟ นอกจากจะทำให้ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ก็ยังอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการปรับราคาสินค้าในตลาดให้อาจปรับสูงขึ้น และอาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 54 ให้ปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ สสค. คาดว่า ทั้งปี 54 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 4.5 ต่อปี) ประมาณการ ณ ธ.ค. 53 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ดัชนีในหมวด ไฟฟ้า เชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นว่าปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.7
2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคาส่งออกข้าว ไตรมาส 1 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 5-10
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานสถานการณ์ข้าวไทยปี 54 โดยคาดการณ์ว่าราคาข้าวที่ชาวนาขายได้ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5 – 10 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 53 เนื่องจากโรงสีและผู้ส่งออกกลับมารับซื้อข้าวเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ อีกทั้งผู้นำเข้าหันมาซื้อข้าวจากไทยแทนเวียดนามที่มีคำสั่งซื้อเต็มไปจนถึงไตรมาสแรกในปีนี้ รวมถึงการปรับขึ้นเพดานราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำทำให้ราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นมาอยู่ใกล้เคียงข้าวไทย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 54 นี้ ราคาข้าวตลอดจนราคาสินค้าเกษตรอื่นๆมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานกล่าวคือ ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดโลกในปีนี้โดยเฉพาะในช่วงต้นปี มีแนวโน้มต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 53เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยจากภาวะลานินญ่า อีกทั้งเริ่มมีการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายโภคภัณฑ์ล่วงหน้า เนื่องจากตลาดการเงินโลกยังคงผันผวนนักลงทุนจึงหันไปเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันดิบและสินค้าเกษตร
อย่างไรก็ตาม หากปริมาณผลผลิตที่ลดลงสามารถชดเชยได้ด้วยราคาที่สูงขึ้น โดยที่ต้นทุนการผลิตไม่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ของเกษตรกรไทยก็จะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหนุนการบริโภคภาคเอกชน ตลอดจนภาคการส่งออกได้
3. โอเปกจะไม่เพิ่มกำลังการผลิตถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูง
- ประธานกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายหลักของโลก (OPEC) กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงระดับ 100 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ และไม่จะเป็นต้องเรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ขณะเดียวกันรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเวเนซูเอลาเห็นว่า แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมัน ที่เข้าใกล้ 100 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เป็นราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของสมาชิกโอเปกบางประเทศ เช่น ลิเบีย เอกวาดอร์ และอิหร่านที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ราคาน้ำมันต้องสูงขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันคงกำลังการผลิตที่มีเสถียรภาพได้ อย่างไรก็ตาม อีกแกนนำอย่างซาอุดิอารเบียเห็นว่า ราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายน่าจะอยู่ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันในระดับสูง เนื่องจากจะเป็นปัจจัยกำหนดต้นทุนการผลิตของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ จากประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ สศค. ประกาศเมื่อเดือน ธ.ค. 53 คาดว่าราคาน้ำมันปี 54 น่าจะอยู่ที่ระดับ 78-88 ดอลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดยมีค่ากลางที่ 83 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นจากเฉลี่ยทั้งปี 53 ที่อยู่ที่ 78.2 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง