อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีโอกาสทางการค้าการลงทุนสูง เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (ประชากรราว ๒๓๗.๕ ล้านคน) ซึ่งร้อยละ ๑๕ เป็นประชากรที่มีฐานะดีและมีกำลังซื้อสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเปิดตลาดสินค้าภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้ศักยภาพความพร้อมที่มีอยู่ เร่งผลักดันขยายตลาดการค้าในอินโดนีเซียให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียปี ๒๕๕๔ จะขยายตัวแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการลงทุนและการส่งออกที่มีการขยายตัวในอัตราที่สูง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลและมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ส่วนภาคการผลิตคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๔ ในปี ๒๕๕๔ และคาดว่าจะเติบโตมากกว่าในปี ๒๕๕๓ ซึ่งการเติบโตดังกล่าวจะส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียจะผลักดันภาคอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างต่อเนื่องโดยการให้สิ่งจูงใจแก่นักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และเกษตรซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะค่อนข้างดี แต่รัฐบาลยังคงกังวลในเรื่องการนำเข้าสินค้าจำพวกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งอินโดนีเซียได้มีการสร้างโรงกลั่นใหม่เพื่อเพิ่มการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปและเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ในปี ๒๕๕๔ อินโดนีเซียจะได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และสภาพอากาศที่แปรปรวนจะส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตและการกระจายสินค้าของภาคเกษตรและเหมืองแร่ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมาก
รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวนและกำลังปรับตัวสูงขึ้นซึ่งอาจทะลุ ๑๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี ๒๕๕๔ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียจะยังไม่ขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศในปีหน้า อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินโดนีเซียประมาณการว่าปี ๒๕๕๔ ราคาน้ำมันในประเทศจะอยู่ที่ระดับ ๘๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล และนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลอินโดนีเซียจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อเพื่อผลักดันให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น นอกจากนั้นรัฐบาลยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาประสิทธิภาพของภาคการผลิตและการเกษตร รวมทั้งรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้มีเสถียรภาพ
มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปอินโดนีเซียในระยะ ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๕๓ มีมูลค่าสูงถึง ๒๑๔,๓๘๙.๙ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ ๔๙.๒๐ โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพเหนือกว่าคู่แข่งขันในตลาดอินโดนีเซีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องปรับอากาศ