เนื้อหาวันที่ : 2011-01-13 15:27:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3440 views

ทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์ จับมือเมนดิกซ์ เนเธอร์แลนด์ รุกตลาดไทย-เอเชียแปซิฟิก

ความต้องการทางด้านอุตสาหกรรมในปัจจุบัน จำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หนึ่งในวิธีนั้นคือการนำเอาระบบไอทีมีประยุกต์ใช้กับระบบงาน

เศรษฐกาญจน์  อนุวัตรวงศ์
sedthakarn@se-ed.com


          ‘ความต้องการทางด้านอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างมากในการคิดหาวิธีเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หนึ่งในวิธีการนั้นก็คือการนำเอาระบบไอทีเข้ามาประยุกต์ใช้กับระบบงานอุตสาหกรรม แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะจับต้องได้ยาก แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวก็ตาม ในส่วนของเทคโนโลยีแต่ละรูปแบบในท้องตลาดก็ไม่สามารถตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้ประกอบการได้ทั้งหมด หรือแม้แต่ในส่วนของผู้ประกอบการเอง ก็ยังไม่รู้จักการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ หลายบริษัทมีเงินลงทุนแต่ขาดความรู้ ลงทุนมาแล้วแต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า’


          จากข้อความข้างต้น คงไม่ได้เกินความเป็นจริงไปจากปากคำบอกเล่าของ คุณปนายุ ศิริกระจ่างศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์ จำกัด ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ หนึ่งในผู้คิดค้นเทคโนโลยี เมนดิกซ์ (Mendix) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้าน Model Driven Engineering Platform (MDE) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกับวารสาร Industrial Technology Review ในประเด็นของการนำเอาเทคโนโลยีไอทีมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมปัจจุบัน รวมถึงทำความรู้จัก Mendix Platform เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เน้นความแตกต่างจากเทคโนโลยีแพลตฟอร์มทั่วไปด้วยจุดเด่นของการพัฒนาซอฟท์แวร์ ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ (Custom-made Software) ซึ่งพร้อมเปิดตัวในตลาดประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก


คุณปนายุ ศิริกระจ่างศรี
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์ จำกัด


มุมมองต่อความต้องการทางด้านเทคโนโลยีไอทีต่ออุตสาหกรรม
          คุณปนายุให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “ผมเคยได้คุยกับผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมเยอะมาก คนในเจเนอเรชั่นใหม่อย่างรุ่นลูก ๆ ที่เริ่มเข้ามาสืบต่อธุรกิจ หรือเริ่มเข้ามาช่วยงานกิจการ ค่อนข้างจะเข้าใจในเรื่องไอทีได้ชัดเจนและเร็วกว่าเจเนอเรชั่นเก่า ๆ ที่เริ่มบุกเบิกก่อตั้งบริษัท แต่ไม่ใช่ว่าคนในเจเนอเรชั่นนี้จะไม่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ นะครับ แต่มุมมองของเขาจะให้ความสำคัญกับการลงทุนทางด้านบุคลากร เครื่องจักร หรือปริมาณการผลิตและผลกำไรมากกว่า และอีกอย่างคือซอฟท์แวร์หรือระบบไอทีเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจับต้องได้ยาก จึงมองได้ไม่ชัดเจนว่าจะนำมาช่วยพัฒนาองค์กรได้อย่างไร”


          “แต่ปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร การทำงานทุกอย่างเกี่ยวข้องกับข้อมูลทั้งหมด การแข่งขันปัจจุบันมองกันในเรื่องของข้อมูล ใครมีข้อมูลที่เหนือกว่าคู่แข่งเป็นผู้ได้เปรียบ อุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกันที่ต้องมีการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยจัดการกับข้อมูลเหล่านี้ ยกตัวอย่างในกรณีที่คุณให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนจากการผลิตหรืออยากรู้ว่าปีนี้ทำไมบริษัทมีการผลิตค่อนข้างเยอะ แต่ตัวเลขผลกำไรยังน้อยอยู่ ระบบไอทีก็จะเข้าไปจับว่าส่วนไหนที่ทำให้คุณสูญเสียต้นทุนไป หลังจากนั้นการเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ดังนั้นแนวโน้มของการใช้ระบบไอทีในงานอุตสาหกรรม ผมมองว่าอนาคตยังไงคุณก็ต้องใช้หรือเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน หากคุณบอกว่ายังไม่พร้อมตอนนี้หรือยังไม่ได้เริ่มต้น ในขณะที่คู่แข่งของคุณพร้อมกันหมดแล้ว เมื่อถึงเวลาต้องใช้จริงคุณก็อาจจะสายไป”


          “ในส่วนของระบบไอทีเองก็เหมือนกัน ปัจจุบันมีให้เลือกใช้ค่อนข้างหลากหลายมาก ทั้งที่เป็นซอฟท์แวร์แบบสำเร็จรูป (Standard Software) และซอฟท์แวร์ที่เป็นแบบตามความต้องการของลูกค้าหรือ Custom-made Software ราคาก็มีหลายระดับด้วยกันตั้งแต่หลัก 50,000 บาท ไปจนถึง 200 ล้านบาท ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระดับการใช้งานหรือความตอบโจทย์ของลูกค้าเอง ในส่วนของ Mendix ก็จะเป็นซอฟท์แวร์ประเภท Custom-made Software” คุณปนายุกล่าวเพิ่มเติม


ทำความรู้จักกับเมนดิกซ์และการเริ่มต้นในประเทศไทย
          “ก่อนอื่นต้องบอกว่าเทคโนโลยีของเมนดิกซ์มีจุดเริ่มต้นที่เนเธอร์แลนด์ เกิดขึ้นจากความสนใจของตัวผมเองและกลุ่มเพื่อนที่คิดค้นเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาในระหว่างที่เรียนปริญญาโทอยู่ที่นั่น ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ประมาณ 3 ปี รูปแบบของเทคโนโลยีเมนดิกซ์ จะอยู่ในรูปแบบของ Model Driven Engineering Platform (MDE) แปลเป็นไทยก็คือการพัฒนาซอฟท์แวร์แบบวาดโดยใช้โมเดลเป็นหลัก แล้วเอาโมเดลนี้มาแปลงให้เป็น Coding หรือเป็นแอพพลิเคชั่น โดยในช่วงระหว่างพัฒนานี้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเขียน Coding ซึ่งจะลดเวลาไปได้มาก”


          “หลังจากนั้นก็ได้ทำตลาดในเนเธอร์แลนด์เป็นเวลาประมาณ 4-5 ปี ปัจจุบันเทคโนโลยีเมนดิกซ์ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงมากในระดับสากล มีบริษัทชั้นนำมากมายทั้งในอเมริกาและยุโรปใช้เทคโนโลยีเมนดิกซ์เข้ามาช่วยบริหารจัดการองค์กรรวมแล้วกว่า 100 บริษัท คิดเป็นรายได้รวมกว่า 1,000 ล้านบาท ลูกค้าที่ใช้มีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม ธุรกิจการเงินและการประกันภัย เวชภัณฑ์ โลจิสติกส์ การผลิต การพิมพ์ ฯลฯ”


          “ในส่วนของความร่วมมือกับทางเมนดิกซ์ เนเธอร์แลนด์ ในครั้งนี้ ก็เนื่องด้วยจากผมเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ร่วมคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา จึงมองว่าเมนดิกซ์น่าจะมาช่วยตอบโจทย์ความต้องการในบ้านเราได้ โดยเฉพาะตลาดเอเชียแปซิฟิก จึงได้รับความไว้วางใจและแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์เทคโนโลยีเมนดิกซ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก โดยผ่านทางทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์” คุณปนายุกล่าว


ความแตกต่างและจุดเด่นของเทคโนโลยีเมนดิกซ์
           “เทคโนโลยีเมนดิกซ์เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานบนเว็บแอพพลิเคชั่น ช่วยให้การพัฒนาระบบการจัดการภายในองค์กรหลากหลายรูปแบบตามความต้องการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจที่ต้องการระบบการจัดการ โดยเมนดิกซ์ทำงานบนพื้นฐานของ Model Driven Engineering Platform (MDE) ที่สามารถนำมาพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร หรือ ERP (Enterprise Resource Planning), การบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM: Customer Relationship Management) และการจัดการกระบวนการทางธุรกิจ (BPM: Business Process Management)”


           “สำหรับจุดเด่นของเทคโนโลยีเมนดิกซ์ที่นอกเหนือจากคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว เมนดิกซ์ยังมีความแตกต่างไปจากแพลตฟอร์มทั่วไปด้วยความสามารถในการสร้างระบบที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Customization) ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมเมอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบ เพียงแต่ลูกค้ากำหนดความต้องการร่วมกับที่ปรึกษาและนักพัฒนาของทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์ ก็สามารถที่จะสร้างระบบขึ้นมาได้ทันที และช่วยลดกระบวนการและเวลาในการจัดการได้”


           “อีกความได้เปรียบของเมนดิกซ์ก็คือความยืดหยุ่นของแพลตฟอร์ม ที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับระบบเดิมที่แต่ละองค์กรใช้งานอยู่ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรื้อระบบเดิมเพื่อสร้างใหม่แต่อย่างใด เพราะการทำงานของเมนดิกส์ สามารถรองรับระบบไอทีชั้นนำอย่าง SAP, Oracle หรือ IBM ได้เป็นอย่างดี ทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถนำระบบเดิมมาพัฒนาต่อยอดใช้งานร่วมกับเมนดิกส์ ช่วยเพิ่มศักยภาพและตอบสนองความต้องการขององค์กรได้ดียิ่งขึ้น”


          “ผมเชื่อว่าระบบซอฟท์แวร์สำเร็จรูปไม่สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างกันได้ทั้งหมด เทคโนโลยีเมนดิกซ์หรือ Mendix Platform จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาระบบตามความต้องการในเชิงธุรกิจและกระบวนการเฉพาะของลูกค้าแต่ละรายได้ เนื่องจากเทคโนโลยีเมนดิกซ์ทำให้การพัฒนาซอฟท์แวร์สำเร็จได้ในระยะเวลารวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นสูง สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทางธุรกิจในอนาคตได้ จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ในระยะยาว และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทำงานได้เป็นอย่างดี” คุณปนายุกล่าวเพิ่มเติม


ตัวอย่างโครงสร้างการทำงานของ Mendix ซึ่งอยู่ในรูปแบบของ Model Driven Engineering Platform (MDE)


กลยุทธ์การดำเนินงานและเป้าหมายการเติบโตในประเทศไทย
          คุณปนายุเล่าว่า “ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเมนดิกซ์จะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยนับว่าเป็นก้าวแรกเท่านั้น เพราะทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์ เพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทยได้เพียงแค่ 2 ปี ดังนั้นระยะเวลาที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงของการสร้างฐานลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าให้เกิดขึ้นกับตัวบริษัทฯ และก็ตัวผลิตภัณฑ์แพลตฟอร์มก่อน เพราะที่ผ่านมาเราแทบจะไม่ได้ทำการตลาดหรือทำการพีอาร์เลย ลูกค้าที่เข้ามาก็ด้วยปากต่อปาก ดังนั้นมันจึงเป็นบทพิสูจน์ให้ผมได้เหมือนกันว่าตัวเทคโนโลยีเองสามารถขายตัวมันเองได้ถ้าคุณภาพดีจริง


แต่ในปีนี้เราก็เริ่มรุกตลาดหรือทำพีอาร์มากขึ้น ด้วยการพยายามโปรโมตข้อดีของผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภคมากขึ้นด้วยการเข้าไปให้ความรู้และนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อการจัดการกับโรงงานอุตสาหกรรมด้วยระบบไอที โดยผ่านทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบ Information Website ให้กับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาได้ รูปแบบของการสัมมนาให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยเราได้ดำเนินการผ่านทางกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และมีแผนที่จะขยายองค์ความรู้เข้าสู่ภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในปีหน้าด้วยซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากทีเดียวสำหรับนักอุตสาหกรรมหรือนักศึกษาได้รู้จักและทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้ ก่อนที่จะเข้าสู่การใช้งานอย่างจริงจังในภาคอุตสาหกรรมเมื่อนักศึกษาได้จบการศึกษาออกไป ซึ่งแนวทางนี้ใช้ได้ผลมาแล้วกับต่างประเทศอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด แคมบริดจ์ หรือเอ็มไอที”


“สำหรับในภาคส่วนอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์ ได้ใช้เมนดิกซ์เข้าไปช่วยในการจัดการภายในให้กับโรงงานผลิตกระจกแปรรูป และสร้างระบบการบริหารจัดการให้กับบริษัทผลิตสายพานลำเลียง ซึ่งถือว่าช่วยตอบโจทย์ให้กับลูกค้าได้ดี รวมทั้งยังช่วยลดเวลาในการบริหารจัดการจากเดิมลงได้มากทีเดียว”


คุณปนายุยังกล่าวต่อว่า “ในปีนี้บริษัทเรามีรายได้ประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 ราย คิดเป็นรายได้กว่า 20 ล้านบาท และสำหรับอนาคตภายใน 3-5 ปี ทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์ ได้วางเป้าหมายการรุกขยายตลาดเทคโนโลยีเมนดิกซ์ในประเทศไทยให้มีรายได้ 100 ล้านบาท ขนาดองค์กรก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 50-70 คน


โดยจะขยายฐานลูกค้าเข้าสู่อุตสาหกรรมการพิมพ์ อุตสาหกรรมบริการ ทั้งคมนาคม โลจิสติกส์ ประกันภัย การเงิน การบริการ ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถ้ามีซอฟท์แวร์ดี ๆ เข้ามาช่วยตอบโจทย์ ก็จะส่งผลให้บริษัทมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการบริหารจัดการและการแข่งขันต่อไป นอกเหนือจากนี้ก็ยังมองถึงโอกาสที่จะขยายงานเข้าสู่ภาคส่วน e-Government ของหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย”



อุปสรรคและโอกาส
     “อย่างที่ผมกล่าวไปเบื้องต้นแล้วคือ ในเรื่องไอทีหรือซอฟท์แวร์เป็นเรื่องที่ลูกค้ามองว่าเข้าถึงได้ค่อนข้างยาก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า หากผู้ประกอบการมีแผนการลงทุนหรือต้องกำหนดงบประมาณ (Budget) ในแต่ละปี ความสำคัญของการลงทุนในเรื่องของซอฟท์แวร์หรือระบบไอทีจะมีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากหากเทียบกับการลงทุนทางด้านอื่น ๆ ในองค์กร และอีกหนึ่งอุปสรรคก็คือเรื่องของแนวคิดในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการทดแทนกระบวนการเดิมที่องค์กรใช้อยู่ แน่นอนว่าถ้าเอาระบบไอทีมาใช้ ก็เท่ากับก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร


ปัญหาก็จะเกิดขึ้นกับตัวบุคลากรที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็มีการต่อต้านเกิดขึ้น ทั้งสองส่วนก็จะต้องมามองกันว่าจะทำอย่างไร เช่นจะทำอย่างไรผู้บริโภคมองว่าไอทีเป็นเรื่องง่าย จับต้องได้ ใช้ประโยชน์ได้จริง นั่นก็ต้องให้ความรู้ก่อน และต้องสร้างความคุ้นเคย หากผู้บริโภคต้องการลงทุนก็ต้องมีการสำรวจถึงปัญหาก่อน ว่าเกิดปัญหาขึ้นตรงส่วนไหนขององค์กร ซอฟท์แวร์หรือระบบไอทีจะเข้ามาช่วยจัดการกับปัญหาตรงส่วนนั้นได้หรือไม่ หรือแม้แต่ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบก็ตาม ในบางกระบวนการหรือขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ สามารถที่จะใช้ระบบไอทีทำงานแทนได้ ในส่วนของบุคลากรก็ให้เปลี่ยนแปลงไปรับผิดชอบงานที่มีความสำคัญกว่า ซึ่งผมมองว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรนั้นด้วยซ้ำ ดังนั้นส่วนของผู้บริหารในองค์กรเองก็ต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องเชื่อมั่นด้วยว่าระบบไอทีจะช่วยผลักดันได้ แน่นอนว่าถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่ขยับ”


     “สำหรับโอกาส ผมมองว่าประเทศไทยยังมีการขยายตัวได้อีกมากในเรื่องของการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีไอที ผนวกกับจำนวนของโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลาง หรือแม้แต่ธุรกิจบริการก็มีจำนวนมากด้วยเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันการนำเอาระบบไอทีมาประยุกต์ใช้กับกิจการจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่สำหรับแนวโน้มความต้องการทางด้านไอทีในอนาคต ผมเชื่อว่าจะมีมากขึ้นแน่นอน เนื่องจากด้วยประเทศไทยมีปัจจัยเอื้อหลาย ๆ อย่างทั้งในเรื่องของการลงทุน, การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ, ศักยภาพของบุคลากร, เทคโนโลยีอันทันสมัยที่สามารถลงทุนได้ในราคาไม่สูงมาก หรือแม้แต่ระบบ Infrastructure ภายในประเทศที่ปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับเราด้วยเช่นกัน ในการที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าซึ่งจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต” คุณปนายุ กล่าว


ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ ทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์
     คุณปนายุเปิดเผยว่า “Key Success ของทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์มีอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนของการมีเทคโนโลยีที่ดีอยู่ในมือ มีการทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่องด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ และอีกส่วนก็คือการมีทีมงานซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่ดี มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ซึ่งเมื่อนำมาผนวกกันแล้วก็จะทำให้องค์กรเราสามารถประสบความสำเร็จได้”


     คุณปนายุยังกล่าวต่อว่า “รูปแบบการทำงานของทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์ เป็นรูปแบบใหม่ คือมีเพียงแค่ที่ปรึกษา และนักวิเคราะห์เท่านั้น เพราะระบบเมนดิกซ์ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้ง่าย จึงไม่จำเป็นต้องมีโปรแกรมเมอร์ในแต่ละประเทศ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับระบบ นอกจากจะมีทีมงานของทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์จะเข้าไปแก้ปัญหาได้ทันทีแล้ว ยังสามารถติดต่อไปยังบริษัทแม่ได้ทันทีอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการมีเทคโนโลยีที่ดีอยู่ในมือ”


     “นอกจากนี้การมีพันธมิตรที่ดีก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้องค์กรของเราเติบโตขึ้น ดังนั้นเราจึงมองหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อที่จะมาช่วยกันนำระบบไปพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท ช่วยเพิ่มช่องทางการเติบโตให้กับธุรกิจ ซึ่งในขณะนี้ก็เริ่มมีติดต่อกันเข้ามาบ้างแล้ว ทำให้เชื่อว่าภายในปีหน้าจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกันกับในต่างประเทศ”


ทิ้งท้ายสำหรับนักอุตสาหกรรมและพันธมิตรทางการลงทุน
          “สำหรับนักอุตสาหกรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นผู้ใช้งาน หรือผู้ที่กำลังจะลงทุนทางด้านไอทีก็ตาม ก็ต้องมองถึงปัญหาของระบบภายในองค์กรก่อน ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นในองค์กร แล้วเราจะสามารถเอาระบบไอทีเข้าไปช่วยจัดการระบบที่เกิดปัญหาเหล่านั้นได้หรือไม่ หลังจากนั้นก็มามองถึงเรื่องความจำเป็นที่ต้องใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย แน่นอนว่าระบบไอทีมันมีประโยชน์อยู่แล้วหล่ะ แต่ทีนี้ถ้าผู้ใช้งานไม่อยากใช้ ต่อให้ลงทุนระบบที่ดีเลิศแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์”


“เมื่อคำถามแรกได้ข้อสรุปมาแล้วว่าองค์กรของท่านมีความจำเป็นและต้องการนำเอาระบบไอทีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในระบบแล้ว ทีนี้ก็มามองกันต่อถึงการเลือกว่าจะนำเอาระบบซอฟท์แวร์หรือระบบไอทีแบบใดเข้ามาใช้งาน ซึ่งแน่นอนอย่างที่ผมเกริ่นไปตั้งแต่ตอนต้นแล้วคือ ซอฟท์แวร์ในท้องตลาดปัจจุบันมีเยอะมาก มีตั้งแต่ราคาไม่แพงมาก ไปจนถึงหลักร้อยล้านตามระดับแพ็กเกจที่ลูกค้าต้องการ แต่ข้อสำคัญคืออยากให้มองว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้ครอบคลุมหรือไม่ ซึ่งบางครั้ง ลูกค้าลงทุนมาแล้วแต่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ทั้งหมด หรือบางครั้งระบบสามารถตอบโจทย์ได้ แต่องค์กรไม่มีความจำเป็นต้องใช้หรือใช้งานได้ไม่คุ้มค่า แต่จำเป็นต้องลงทุนมาด้วยราคาที่สูงเพราะไม่สามารถเลือกแพ็กเกจได้ ซึ่งผมมองว่าบางครั้งมันเกินความจำเป็น”


 “ทีนี้เมื่อลูกค้ามีรายการระบบซอฟท์แวร์ที่ต้องเลือกมาใช้งานแล้ว สุดท้ายก็ต้องเปรียบเทียบกันว่า นอกจากการตอบโจทย์ความต้องการแล้ว ซอฟท์แวร์ตัวไหนที่จะทำให้องค์กรของท่านมีความคุ้มค่ามากกว่ากัน ซึ่งความคุ้มค่าในที่นี้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทุนราคาที่ซื้อมา ความสะดวกรวดเร็วและง่ายต่อการเรียนรู้ใช้งาน ความเสถียรภาพและทันสมัย ซึ่งในที่นี้หมายถึงสามารถใช้ได้ยาวนานหรือมีความยืดหยุ่นสูงหากต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบ ลดค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทำงานได้เป็นอย่างดี”


          “ในส่วนของเทคโนโลยีเมนดิกซ์เอง ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีของเราสามารถตอบโจทย์ได้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะในส่วนตัวผมเองมองว่า ระบบที่ดีก็คือระบบที่สามารถที่เข้าถึงคนได้ ผู้ใช้อยากที่จะใช้ เมื่อใช้แล้วได้ประโยชน์จริง ซึ่งในแต่ละโปรเจ็กต์ของลูกค้าหรือแต่ละระบบ ผมก็จะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ระบบเกินกว่าครึ่ง ซึ่งต้องผ่านกระบวนการความคิดจนตกผลึก มองปัญหาและวางแผนจนไม่มีรูรั่ว ต้องออกแบบจนลูกค้าพึงพอใจ จากนั้นถึงจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกมา” คุณปนายุ กล่าวทิ้งท้าย



 

 



ลักษณะธุรกิจของทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์
ทีบีเอ็น ซอฟท์แวร์ ดำเนินธุรกิจทางด้านระบบบริหารภายในองค์กร โดยมีบริการดังนี้
• จำหน่ายลิขสิทธิ์เทคโนโลยี เมนดิกซ์ (Mendix)
จำหน่าย Technology License คือลิขสิทธิ์เทคโนโลยีของเมนดิกซ์ เพื่อให้บริษัททางด้านไอทีต่าง ๆ หรือ System Integrator นำไปพัฒนาระบบให้กับลูกค้า


• ให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบการจัดการทางด้านไอทีในองค์กร
ให้บริการวิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาระบบไอที และ Business Solution ตามความต้องการของลูกค้าโดยใช้เทคโนโลยีของเมนดิกซ์