1. กนง.ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
- ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เพิ่มเป็น 2.25 ต่อปี ให้มีผลบังคับใช้ทันที เนื่องจากแนวโน้มแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้มีการเปิดเผยคะแนนของกรรมการทั้ง 7 คน พร้อมด้วยเหตุผลอย่างย่อ เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีกนง.มา 10 ปี ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อสาธารณะในการคาดการณ์เงินเฟ้อได้เม่นยำขึ้น และไม่คาดการณ์เงินเฟ้อสูงเกินไป
- สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวกลับเข้าสู่ระดับเหนือช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก (ก.ย. 51) จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกต่อไป
นอกจากนั้นในปี 54 ยังมีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อหลายด้านทั้ง ต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบ และราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นในการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 0.5 -3.0 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งขึ้นในช่วงกลางปี 54 และเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 3.0-4.5 ต่อปี
2. การขอรับ FDI ปี 53 มูลค่าการลงทุนลดลงแต่จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รายงานภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงปี 53 มีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งสิ้น 865 โครงการ เงินลงทุน รวม 236.0 พันล้านบาท
โดยจำนวนโครงการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ต่อปี ที่มี 788 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนแม้จะปรับลดลงร้อยละ 32.7 ต่อปี ที่มีมูลค่าเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งสิ้น 350.7 พันล้านบาท แต่เป็นเพราะโครงการลงทุนจากต่างประเทศในปี 53 ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลาง
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในไทยในช่วง ม.ค.-ต.ค. 53 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 142.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยุโรปมีสัดส่วนการลงทุนสูงสุดขยายตัวร้อยละ 60 ต่อปี ในขณะที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนอันดับ 2 แต่หดตัวร้อยละ 60.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงมีการขยายตัวสูงที่ร้อยละ 642 ต่อปี
โดยหากพิจารณาด้านรายสาขาพบว่า ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในกิจการอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนเงินลงทุนสูงสุด โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า (สัดส่วนร้อยละ 10) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 546 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การที่จำนวนโครงการการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้นในขณะทีมูลค่าการลงทุนลดลง ดังนั้น รัฐบาลควรกระตุ้นการลงทุนเชิงรุกมากขึ้นทั้งจากกลุ่มนักลงทุนเดิม เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป และนักลงทุนเป้าหมายใหม่ เช่น จีน และอินเดีย
3. ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดญี่ปุ่นเดือน พ.ย. 53 ปรับตัวลดลงในรอบ 3 เดือน
- สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 926.2 พันล้านเยน ลดลงจากเดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 1,436.2 พันล้านเยน ซึ่งนับป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย. 53 ที่ลดลงเป็นผลจากการเกินดุลการค้าที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 259.7 พันล้านเยน จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 912.9 พันล้านเยน โดยเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก ในขณะที่มูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมากจาก การแข็งค่าของเงินเยนที่ระดับร้อยละ 15 นับจากต้นปี 53 และ การลดลงในอุปสงค์ของสินค้าญี่ปุ่นจากตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจากตลาดเอเชีย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง