นิด้า ชี้นโยบายประชาวิวัฒน์ 3 มาตรการ 9 แนวทาง เป็นเพียงนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แนะรัฐสร้างกรอบที่ชัดเจน เน้นแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เป็นระบบ มีรูปธรรม
(ภาพจากเว็บไซต์ www.thaigov.go.th)
นิด้า ชี้นโยบายประชาวิวัฒน์ 3 มาตรการ 9 แนวทาง เป็นเพียงนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แนะรัฐสร้างกรอบที่ชัดเจน เน้นแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เป็นระบบ มีรูปธรรม
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะแนวทางโครงการนโยบายประชาวิวัฒน์ 3 มาตรการ 9 แนวทาง เป็นเพียงการดำเนินนโยบายภายใต้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลควรจะมีกรอบ รวมทั้งแนวทางในการดำเนินนโยบายที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ตลอดจนความชัดเจนของการได้มาของงบประมาณสำหรับการดูแลโครงการด้วย
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการ MPA Executive Program Bangkok สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลว่า เป็นแนวนโยบายที่ดีที่ควรจะทำ และสามารถดำเนินการได้ แต่จะให้เกิดผลต่อการพัฒนา หรือปฏิรูปประเทศไทยอย่างยั่งยืนนั้น คงจะไม่ใช่แนวทางที่จะสามารถเป็นไปได้ง่ายนัก
เนื่องจากมาตรการและแนวทางหลักของการดำเนินนโยบายดังกล่าว เป็นเพียงการดำเนินนโยบายที่เน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แนวทางในการดำเนินนโยบายต่างๆ นอกจากต้องวางเป้าหมายไปที่การตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นหลักแล้ว ยังควรที่จะต้องเน้นความยั่งยืนของโครงการ ตลอดจนความต่อเนื่อง และการบริหารงบประมาณที่ชัดเจน
ทั้งนี้ รศ.ดร.มนตรี กล่าวแนะนำว่า แนวโครงการนโยบายประชาวิวัฒน์ดังกล่าวนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1.) สร้างความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกภาคส่วน 2.) สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม และ 3.) เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ทั่วถึง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 ประเด็นเป็นแนวทางที่ดี และสามารถตอบสนองความต้องการของภาคประชาชนที่อยู่นอกระบบให้เกิดขึ้นได้
รวมทั้งเป็นแนวทางของการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างทั่วถึงด้วยระบบประกันสังคม แต่ประเด็นก็คือ เม็ดเงินที่รัฐบาลจะต้องใช้นั้นมาจากไหน เนื่องจากรายได้หลักของประเทศ คือ ภาษี โดยไทยสามารถเก็บได้เพียง 17% ของ GDP เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลกที่ 30% ต่อ GDP เสียอีก จะเห็นได้ว่า เม็ดเงินที่รัฐจัดเก็บได้มีไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เกิดขึ้น
ดังนั้น รัฐจึงควรมองแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้โครงการสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ตลอดจนมาตรการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น สถาบันการเงินที่เข้าร่วม จำเป็นที่จะต้องมีกรอบของการทำงานอย่างเป็นระบบ และควรที่จะเสริมความเข้าใจเรื่องวินัยการกู้ยืม วินัยการชำระหนี้ และวินัยการใช้จ่ายให้กับภาคประชาชนด้วย มิฉะนั้น ระบบสถาบันการเงินจะอยู่ไม่ได้ สุดท้ายจะเกิดความเสียหายกับระบบการเงินได้อีก
สำหรับแนวทางต่างๆ ที่รัฐดำเนินงานนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้ไฟฟ้าฟรีอย่างถาวร (ต่ำกว่า 90 หน่วย) หรือแนวทางการตรึงราคาก๊าซ LPG ซึ่งจะเห็นได้ว่า เม็ดเงินที่ภาครัฐจะต้องเสียไปในการอุดหนุนแนวทางเหล่านี้เกิดขึ้นจริงทั้งสิ้น ทั้งค่าไฟฟ้าที่รัฐต้องจ่ายให้กับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ตลอดจนกรณีของก๊าซ LPG เป้าหมายหลักคือ ภาคครัวเรือน แต่แนวทางที่ดำเนินการอาจเกิดช่องว่างที่จะทำให้ภาคขนส่งได้รับผลประโยชน์ได้ ดังนั้น รัฐจึงควรที่จะกำหนดแนวทางปฎิบัติอย่างเป็นระบบ มีรูปธรรม เพื่อให้สามารถเข้าถึง ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
“การจะปฎิรูปประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้นั้น ควรจะมีแนวทางที่ชัดเจน เป็นระบบ มีรูปธรรม ตลอดจนต้องมีความต่อเนื่องเป็นสำคัญ และควรจะมีแนวทางสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถ ในการสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชนมากขึ้น แทนการดำเนินนโยบายตามแนวทางของการลดค่าใช้จ่าย ลดค่าครองชีพที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะแนวทางดังกล่าว นอกจากจะเป็นมาตรการที่แทรกแซงกลไกตลาดแล้ว ยังเป็นเพียงแนวทางระยะสั้น ไม่ใช่ระยะยาว และไม่ใช่แนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน” รศ.ดร.มนตรีกล่าว