เนื้อหาวันที่ : 2011-01-11 14:20:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2442 views

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ : ทางรอดวิกฤตพลังงานไทย

สนพ. เร่งอัพเดทสถานการณ์การใช้พลังงานของไทย มองทิศทางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ชี้อนาคตพลังงานไทยปัญหารอบด้าน เชื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือทางออก

สนพ. เร่งอัพเดทสถานการณ์การใช้พลังงานของไทย มองทิศทางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ชี้อนาคตพลังงานไทยปัญหารอบด้าน เชื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือทางออก

จากวิกฤตพลังงานที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่นี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องของมนุษยชาติ ทั่วโลกต่างพยายามเสาะหาพลังงานทางเลือกเพื่อมาทดแทนน้ำมันที่มีปริมาณน้อยลง แม้ว่ากระแสพลังงานทดแทนจะได้รับการสนับสนุนอย่างมาก

แต่ด้วยข้อจำกัดของพลังงานทดแทน ทำให้เราจำเป็นต้องเสาะหาพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ และที่สำคัญต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พลังงานนิวเคลียร์ จึงเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และมีการใช้เพื่อการผลิตพลังงานกันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

ดังนั้น ในฐานะที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดูแลกำกับนโยบายและแผนพลังงานของชาติ ได้ให้ความสำคัญในการจัดหาพลังงานให้ได้ตามความต้องการการใช้พลังงานของประเทศ โดยคำนึงถึงความมั่งคงด้านพลังงานของประเทศ ราคาต้นทุนพลังงาน และสิ่งแวดล้อม จึงมีการศึกษาความเหมาะสมของพลังงานนิวเคลียร์กับประเทศไทย

นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จึงขออัพเดทข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันของการใช้พลังงานของประเทศไทยและทิศทางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ในประเด็น “การจัดหาไฟฟ้าในอนาคต”

รองผอ.สนพ. กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาพลังงานไฟฟ้าของไทยในอนาคต จะไม่ใช่ต้นทุนการผลิตอย่างเดียว แต่ปัญหาหลักอยู่ที่จะมีเชื้อเพลิงแบบใด ปริมาณเท่าใดในการผลิตไฟฟ้า เพราะจะหวังพึ่งจากก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน และการประหยัดพลังงานคงไม่พอ

กระทรวงพลังงานจึงต้องหาโรงไฟฟ้ารูปแบบอื่นมาทดแทนไม่ให้เกิดการขาดแคลน เช่น การรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน หรือหากประชาชนยอมรับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ ถ่านหินสะอาด หรือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ในประเด็นซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นแนวทางที่กระทรวงพลังงานให้สัดส่วนการจัดหาพลังงานก็ตาม แต่ก็ยังคงต้องคำนึงถึงความเสี่ยง

ซึ่งไทยไม่ควรซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ประเทศเดียวเกิน 13% จากสองประเทศ 26% หรือจากสามประเทศต้องไม่เกิน 33% สำหรับแผน PDP 2010 (2553 – 2573) ได้กำหนดให้ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไม่เกิน 25% การรับซื้อไฟฟ้าจากภายนอกจำนวนมากกว่าที่ผลิตเอง ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการจัดหาเพื่อความมั่นคงในอนาคตได้ ถ้าความเสี่ยงมากขึ้นอาจทำให้ต้องเพิ่มการสำรองไฟฟ้ามากขึ้นตามมาด้วย เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยพลังงานเป็นสำคัญ

ดังนั้นประเทศไทยต้องหาแนวทางรับมือในการจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงในระยะยาวด้วยการกระจายแหล่งพลังงาน ไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากเกินไป และต้องเป็นพลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสภาพภูมิอากาศไปมากกว่านี้

ซึ่งพลังงานที่คาดว่าจะถูกนำมาใช้มากขึ้นในอนาคต เพราะมีต้นทุนต่ำและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยหากเทียบกับพลังงานฟอสซิลชนิด อื่น คือ การผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ หากย้อนกลับมาสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย

รองผอ.สนพ. กล่าวว่า “จากที่ผ่านมา สนพ. ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยทั้งในด้านความเหมาะสมและความปลอดภัยของเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับความคืบหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของไทย ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าที่สังคมเป็นห่วง ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตระหนักถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นหากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นในประเทศไทยคงต้องพิจารณาถึง เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงสุด”

หากมองดูสถานการณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โลก ที่ปัจจุบันทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เดินเครื่องอยู่ 446 โรงใน 30 ประเทศ อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 60 โรง ประเทศที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ สหรัฐฯ มีถึง 104 โรง รองลงมาคือ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มี 58 และ 53 โรงตามลำดับ

โดยในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างก็ตัดสินใจเดินหน้าแผนการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้ว โดยเฉพาะประเทศเวียดนามมีความคืบหน้ามากพอควร ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด 4 โรงจำนวน 4,000 เมกะวัตต์ โดยมีที่ตั้งที่เมืองเหนอถ่วนตอนใต้ของประเทศเวียดนาม และห่างจากจังหวัดอุบลราชธานีของไทยเพียงประมาณ 500 กิโลเมตรเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยแม้ที่ผ่านมา จะมีหลายหน่วยงาน หลายองค์กร จัดเสวนาทำความเข้าใจกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆ บ้างแล้วในเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่เท่าที่ได้ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ส่วนใหญ่แล้วพบว่าปัญหาที่เป็นข้อห่วงกังวลคือ ปัญหาด้านระบบความปลอดภัย วิธีจัดการเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วและกากกัมมันตรังสีที่ดี

การทำลายฐานทรัพยากรของท้องถิ่น เช่น ผลิตผลทางการเกษตรเสียหาย ทำลายระบบนิเวศ ปะการัง และสัตว์น้ำ ทำลายอาชีพของคนในพื้นที่ฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องอาศัยระยะเวลาและกลยุทธ์ในการสื่อสารสาธารณะ ในการทำความเข้าใจ และให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ต้องมีการส่งข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งข้อดีและข้อเสียถึงผู้รับสารโดยตรงอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ปิดกั้นข่าวสารด้านที่ไม่สนับสนุน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน

ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องของประชาชนเอง “เพราะการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นการลงทุนที่สูงมาก ดังนั้นรัฐบาลเมื่อตัดสินใจเดินหน้าโครงการแล้วก็ควรจะเดินต่อไปไม่ใช่หยุดลง หรือถ้าไม่เดินหน้าก็ต้องหาโรงไฟฟ้าแบบอื่นเพื่อจัดหาพลังงานให้ประชาชนอย่างเพียงพอและมั่นคงต่อไป

ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับจากประชาชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งข้อมูลจะต้องเป็นข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส่ และให้ข้อมูลรอบด้านทั้งข้อดี และข้อเสีย เพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานเพียงพอในการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อตัดสินใจว่าในอนาคตประเทศไทยสมควรมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่” รองผอ.สนพ. กล่าว

ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน