กลุ่มประเทศ BRIC ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ทั้ง 4 ประเทศนี้ต่างก็เคยสะดุดหยุดล้มมาแล้วทั้งสิ้นแต่วันนี้กลับผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในโลกเศรษฐกิจ
กลุ่มประเทศ BRIC
ขั้วอำนาจใหม่ในโลกเศรษฐกิจ
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ
ซีรีส์ชุด “มารู้จัก Emerging Economy” มีจุดประสงค์ที่จะแนะนำกลุ่มประเทศหรือประเทศที่กำลังยกระดับตนเองให้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่ “ความเป็นอยู่ดี” ของประชาชนภายในประเทศเป็นสำคัญ
คำว่า “ความเป็นอยู่ที่ดี” นั้น มีความหมายลึกซึ้งนะครับ ไม่ใช่แค่กินดี อยู่ดี เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development) ยังต้องคำนึงถึงองคาพยพอื่น ๆ ในสังคมไปพร้อม ๆ กันด้วย อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ทำลายสุขภาพประชาชน หรือการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) ลดปัญหาการคอร์รัปชั่น
ซึ่งท้ายที่สุดการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องให้โอกาสที่เท่าเทียมกันกับประชาชนทุกคนครับ เพื่อที่จะลดช่องว่างทางรายได้ของผู้คนในสังคม ขณะเดียวกันสามารถกระจายโอกาสให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวมได้เท่าเทียมกัน
แหม่ ! แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกินนะครับ โดยเฉพาะในบ้านเรา แต่อย่างน้อยที่สุดมนุษย์เราก็จำเป็นต้องมี “ความฝัน” หรือ “ความหวัง” ไว้ก่อนแหละครับ ส่วนความ “คาดหวัง” นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
กลับมาเรื่องที่อยากจะแนะนำในตอนนี้ดีกว่าครับ เมื่อครั้งที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึง “ตลาดเกิดใหม่ในศตวรรษที่ 21” หรือ Emerging Markets ซึ่งประกอบไปด้วย 28 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ดีกลุ่มประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยที่สุด คือกลุ่มประเทศ BRIC ครับ ซึ่งประกอบไปด้วย Brazil-Russia-India-China
อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าทั้งสี่ประเทศนี้ล้วนมีประวัติศาสตร์มายาวนาน เฉพาะอินเดียกับจีนนับเป็นสองเสาหลักของอู่อารยธรรมโลกตะวันออก ก่อนจะไปสะดุดในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 เมื่อโดนลัทธิล่าอาณานิคมจากโลกตะวันตกเข้าเล่นงาน แถมมีความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศอีกทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า
สำหรับบราซิลนั้น อดีตนั้นเคยเป็นอาณานิคมของสเปนในยุค “สเปนาภิวัฒน์” หรือยุคจักรวรรดินิยมสเปนโดยเฉพาะบนแผ่นดินลาตินประเทศส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของสเปนและโปรตุเกส ด้วยเหตุผลที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับมีตลาดที่ใหญ่พอต่อการระบายสินค้าจากเมืองแม่ได้
ขณะที่รัสเซีย หลังจากแยกตัวออกมาจาก “สหภาพโซเวียต” แล้ว ด้วยความที่เป็นต้นตำรับสังคมนิยมมาช้านานทำให้รัสเซียจำเป็นต้องปรับตัวมากพอสมควรเพื่อเข้าสู่โลกเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีภายใต้ “ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน” ซึ่งหากจะว่าไปแล้วรัสเซียเองก็ทำได้ดีระดับหนึ่งนะครับในฐานะอดีตยักษ์ใหญ่แห่งโลกคอมมิวนิสต์ที่ทุกวันนี้หันมาเอาดีด้วยการเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ BRIC
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าทั้งสี่ประเทศนี้ล้วนแล้วแต่เคยสะดุดหยุดล้มกันมาก่อนทั้งสิ้น บางประเทศมีปัญหาถึงขั้นแยกดินแดนก็มีอย่างอินเดียหรือรัสเซีย บางประเทศเคยถูกกดขี่จากเจ้าอาณานิคมอย่างอินเดียหรือบราซิล บางประเทศเคยลองผิดลองถูกจากการพัฒนาอย่างอินเดียและจีน
แต่ทำไมวันนี้ทั้งสี่ประเทศกำลังจะกลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในโลกเศรษฐกิจกันล่ะครับ
กลุ่มประเทศ BRIC: ขั้วอำนาจใหม่ในโลกเศรษฐกิจ
ในปี 2001 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษนามว่า จิม โอนีล (Jim O’Neill) จาก Goldman Sach สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจชื่อดัง ได้เขียนบทความเรื่อง The World Needs Better Economic BRICs ซึ่งบทความดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นที่แนะนำให้คนได้รู้จักกลุ่มประเทศที่ได้รับการจับตามองว่าจะขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งแต่เดิมผูกขาดอยู่เพียงแค่กลุ่มประเทศ G7 ที่ประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี และแคนาดา
กลุ่มประเทศ G7 ยุคเรแกน-แธตเชอร์
มหาอำนาจเก่าในศตวรรษที่ 20
กำลังถูกท้าทายด้วยกลุ่มประเทศ BRIC
โอนีลมองเห็นถึงศักยภาพที่มีมากล้นของประเทศทั้งสี่นี้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพิเศษของ BRIC นั้นมีตั้งแต่เรื่องของจำนวนประชากรที่มีมากมายมหาศาลคิดเป็น 40% ของประชากรโลก ขนาดพื้นที่ประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าหนึ่งในสี่ของพื้นที่ทั้งหมดในโลก และยังอุดมไปด้วยทรัพยากรมากมาย
ขณะเดียวกันการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อตามให้ทันกระแสของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ยิ่งทำให้ไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า BRIC จะกลายมาเป็นมหาอำนาจกลุ่มใหม่ที่ขึ้นมาแทนที่ G7 มหาอำนาจกลุ่มเดิม
Goldman Sach เองสนใจเรื่อง BRIC เป็นอย่างมากครับ ซึ่งในปี 2003 ทาง Goldman Sach ได้ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับ BRIC ออกมาอีกฉบับหนึ่งชื่อ Dreaming with BRICs; The Path to 2050 โดยในรายงานฉบับนี้พูดถึงทิศทางการพัฒนาของ BRIC ไว้อย่างน่าสนใจครับว่า “อีกเพียงไม่กี่ปีจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจโตกว่าเยอรมนี
ขณะที่ปี 2015 ขนาดเศรษฐกิจจีนจะแซงญี่ปุ่นขึ้นไปอยู่เป็นอันดับสอง และท้ายที่สุดจีนจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2041 ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจอินเดียจะแซงญี่ปุ่นได้ในปี 2032” ครับ
ในรายงานฉบับดังกล่าวของ Goldman Sach ยังทำนายไว้น่าสนใจว่าเมื่อถึง 2050 สามในสี่ของ BRIC คือ จีน อินเดียและบราซิล จะติดอันดับหนึ่งในห้าของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยสหรัฐอเมริกาจะหล่นลงมาอยู่อันดับสอง ส่วนที่น่าเซอร์ไพรส์สุด คือ “เม็กซิโก” ที่จะก้าวขึ้นมาติดอันดับห้ารองจากบราซิลครับ
จิม โอนีล (Jim O’Niell)
นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษจาก Goldman Sach
ผู้แนะนำให้โลกได้รู้จักกับกลุ่มประเทศ BRIC
Goldman Sach สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้พยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ “น่าจับตา” ในช่วงสี่สิบปีถัดจากนี้ ประเด็นที่สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจนี้มอง คือ ศักยภาพของการพัฒนาประเทศ ซึ่ง Goldman Sach ได้เลือกประเทศที่น่าจับตามาทั้งสิ้น 22 ประเทศ ซึ่งนอกจากกลุ่มประเทศ G7 และ BRIC แล้วมีหลายประเทศที่ควรจะกล่าวถึงในที่นี้ด้วยครับ
ประเทศที่ถูกจับตามากเป็นพิเศษดูเหมือนจะมี “เม็กซิโก” และ “เกาหลีใต้” ซึ่งในส่วนของเกาหลีใต้นั้นไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก เพียงแต่มีการวิเคราะห์กันถึงขั้นว่าหากเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือรวมกันได้จริง ๆ เป็น United Korea แล้ว ประเทศพี่เบิ้มหลายประเทศคงหนาว ๆ ร้อน ๆ เหมือนกัน
อย่างที่เรียนไปแล้วครับว่า “เม็กซิโก” เป็นประเทศที่น่าเซอร์ไพรส์สุด เนื่องจาก Goldman Sach ให้เครดิตว่าอีกสี่สิบปีข้างหน้าเศรษฐกิจของเมือง “จังโก้” จะมีขนาดใหญ่ติดอันดับหนึ่งในห้าของโลก ทั้งนี้เหตุผลหนึ่งมาจากในช่วงที่ผ่านมาเม็กซิโกพัฒนายกระดับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว
ประกอบกับการเติบโตของชนชั้นกลางภายในประเทศและรัฐบาลสามารถลดอัตราความยากจนลงได้ตามที่คาดไว้ครับ ซึ่งทาง Goldman Sach ประมาณการไว้ว่า GDP Per Capita หรือ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศรายหัวของชาวเม็กซิโกในอีกสี่สิบปีข้างหน้าจะสูงถึง 63,149 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียวครับ
น่าสนใจทีเดียวว่า
ทุกวันนี้เม็กซิโก คือ ประเทศผู้ผลิต Smartphone รายใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากเม็กซิโกแล้ว กลุ่มประเทศ ASEAN ของเรายังติดอันดับกับเขาด้วยสามประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ครับ สำหรับอินโดนีเซียนั้น Goldman Sach เขาทำนายว่าในอีกสี่สิบปีข้างหน้า “อิเหนา” จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอับดับ 7 ของโลก แซงทั้งญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้จุดเด่นของอินโดนีเซียนอกจากจะเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแล้ว ยังมีประชากรจำนวนมาก เพียงพอที่ต่อการสร้างกำลังแรงงานและรองรับตลาดภายในได้อีกด้วย เช่นเดียวกับการเมืองที่เริ่มมีเสถียรภาพหลังจากหมดยุคของ “ซูฮาร์โต้” ครองเมืองแล้ว ทำให้อินโดนีเซียดูจะทะยานไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง
ในส่วนของฟิลิปปินส์นั้น Goldman Sach ให้เครดิตไว้ว่าอีกสี่สิบปีข้างหน้าขนาดเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะโตติดอันดับหนึ่งในยี่สิบของโลก เช่นเดียวกับเวียดนามที่ทุกวันนี้แทบจะ “ถอดแบบ” การพัฒนาประเทศมาจากลูกพี่ “จีน”
เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็ขออนุญาต “หดหู่” เป็นครั้งที่สองสำหรับประเทศไทยนะครับ
โดยส่วนตัวผู้เขียนเองก็มิได้ปักใจเชื่อ Goldman Sach สักเท่าไหร่หรอกครับ เนื่องจากระยะเวลาอีกสี่สิบปีนั้นมันย่อมมีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าคิด คือ การประเมินศักยภาพทางเศรษฐกิจของ Goldman Sach นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ณ วันนี้ ครับ เพราะหากวันนี้ประเทศคุณไม่ดีพอก็อย่าหวังว่าวันข้างหน้าคุณจะจำเริญเติบโตอย่างที่ฝันไว้ได้
ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาที่ผู้เขียนพยายามศึกษา “รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ” ของประเทศต่าง ๆ ในโลก สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ “วิสัยทัศน์” ของผู้นำและผู้คนครับ ประเทศก็เหมือนคนแหละครับ
หากพัฒนากันไปอย่างไร้ทิศทาง มีผู้นำหรือนักการเมืองที่โกหกพกลม เอาตัวรอด ตอหลดตอแหล แย่งชิงอำนาจกันไปวัน ๆ เราก็อย่างหวังเลยว่าประเทศของเราจะเดินไปข้างหน้า ทำนองเดียวกันหากประเทศเราเต็มไปด้วยผู้คนที่หวังลม ๆ แล้ง ๆ อยู่กับโชคลาภ หรือสนุกสนานบันเทิงกันไปวัน ๆ บางทีก็อย่าหวังเลยครับที่จะเห็น “ไทยแลนด์” ของเราก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
สิ่งเหล่านี้มันเป็น “โครงสร้าง” ครับ ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น การปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติต่างหากที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาตนเองได้
กลับมาที่เรื่องของเราต่อดีกว่าครับ, นอกจากประเทศในแถบ ASEAN ถูกส่งเข้าประกวด 3 ชาติแล้ว ประเทศอย่างปากีสถาน บังคลาเทศ อิหร่าน อิยิปต์และไนจีเรีย ประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในลิสต์ของ Goldman Sach ที่เขาจับตาดูอยู่เช่นกัน
เหตุผลที่ทำให้กลุ่มประเทศ BRIC นั้นสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นฐานอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลกได้นั้น นอกเหนือจากจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่แล้ว คงต้องยกเครดิตให้กับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เข้าสู่ “ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด” ได้อย่างรวดเร็วโดยสอดคล้องกับบริบทของสังคมตัวเอง
กล่าวกันว่าจีนและอินเดียหรือ Chindia นั้นมีจุดแข็งในเรื่องการผลิตสินค้าและบริการโดยเฉพาะจีนที่ทุกวันนี้แทบจะเป็น “โรงงานของโลก” ไปแล้วเพราะสินค้าแทบทุกชนิดมักประทับ Made in China ส่วนบราซิลและรัสเซียเต็มไปด้วยทรัพยากรการผลิต ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน เหล็ก ทองแดง เป็นต้น
มีสถิติหลายอย่างที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนให้เห็นศักยภาพของ BRIC ได้อย่างดีครับ เช่น โครงข่ายทางรถไฟภายในประเทศ (Rail Network) ซึ่ง รัสเซียมีโครงข่ายทางรถไฟติดอันดับที่สองของโลก ขณะที่จีนอยู่อันดับสาม อินเดียรั้งอันดับสี่ ส่วนบราซิลอยู่อันดับสิบ เช่นเดียวกับโครงข่ายถนน (Road Network) ที่จีนอยู่อันดับสอง อินเดียอันดับสาม บราซิลอันดับสี่และรัสเซียอันดับแปด
นอกจากโครงข่ายทางด้านการขนส่งแล้ว โครงข่ายทางด้านอินเตอร์เน็ตที่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจในศตวรรษนี้ ปรากฏว่า จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก อินเดียอยู่อันดับสี่ บราซิลอันดับห้าและรัสเซียอันดับแปดครับ
สี่เมืองใหญ่ในอนาคต
ซาน เปาโล , มอสโคว์, มุมไบ และเซี่ยงไฮ้
(ภาพจาก Wikipedia.org)
ต่อไปมหานครใหญ่ ๆ อาจไม่ได้มีแค่ นิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว หรือ ฮ่องกง อีกต่อไปแล้วนะครับ ในอนาคตชื่อของมหานครอย่างซานเปาโลก มอสโคว์ มุมไบ และเซี่ยงไฮ้ กำลังกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก อย่างทุกวันนี้ตลาดหุ้นในซานเปาโล San Paolo Stock Exchange กลายเป็นตลาดหุ้นที่มีการซื้อขายหุ้นมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกไปแล้ว
หากมองในแง่ศักยภาพแล้ว นับว่าทั้งสี่ประเทศนั้นไม่ได้มีอะไรที่ “ด้อย” ไปกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเลยนะครับ แต่อย่างไรก็ดีปัญหาอย่างหนึ่งที่ BRIC ยังต้องเผชิญต่อไป คือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายรายได้และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนามากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่จำเริญเติบโตเสียอีก
เพราะหัวใจของการพัฒนามิได้อยู่ที่การพัฒนาวัตถุหรือการค้าการลงทุนหรอกครับ หากอยู่ที่การพัฒนาคนและคุณภาพชีวิตของประชาชนต่างหาก
แม้ว่าบทความของโอนีลจะมีอิทธิพลต่อมุมมองของนักลงทุนและนักวิเคราะห์เศรษฐกิจในยุคนี้ แต่อย่างไรก็ดีการรวมกลุ่มของประเทศทั้งสี่นั้นก็ยังเป็นไปอย่าง “หลวม” ๆ นะครับ กล่าวคือ ทั้งสี่ประเทศมิได้ร่วมมือจนถึงขั้นจัดตั้งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจ (Economic Bloc) อย่าง ASEAN
การรวมตัวอย่างหลวม ๆ ดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวทางการพัฒนาที่อาจมีส่วนคล้ายกันบ้างแต่ก็ยังมีส่วนต่างกันอยู่ นอกจากนี้ทั้งสี่ประเทศนอกจากจะเป็น “คู่ค้า” กันแล้วยังเป็น “คู่แข่ง” กันอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามช่วงกลางปี 2009 รัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี ดมิตรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ได้จัดการประชุม BRIC Summits ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำทั้งสามชาติ ไม่ว่าจะเป็น ดร.มาโมฮาห์น ซิงห์ (Mamohan Sing) นายกรัฐมนตรีอินเดีย, ประธานาธิบดีลูล่า ดา ซิลว่า (Lula Da Silva) แห่งบราซิล และประธานาธิบดีหู จิน เทา (Hu Jin Tao) จากจีน ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมือง Yekaterinburg ในรัสเซีย
สาระสำคัญของการประชุมนอกจากจะ “โชว์” ให้เห็นสี่พี่เบิ้มคนใหม่แล้ว ยังพูดคุยกันเรื่องของการสร้างระบบทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในอนาคตที่เน้นไปที่การกระจายความเสี่ยงและความมีเสถียรภาพ เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลก
การประชุม BRIC Summit ครั้งแรกลุล่วงไปด้วยดีครับ จึงได้มีการกำหนดจัดประชุม BRIC Summit ขึ้นปีละครั้งโดยปี 2010 บราซิลรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพที่กรุงบราซิลเลีย และในปีหน้า 2011 BRIC Summit จะจัดขึ้นที่มหานครปักกิ่งครับ
การประชุม BRIC Summit ครั้งที่ 1 ที่เมือง Yekaterinburg รัสเซีย
การประชุม BRIC Summit ครั้งที่สอง ที่กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล
ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างกลุ่มประเทศ BRIC ขึ้นมาเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่าไม่มีชาติใดหรอกครับที่เขาจะพัฒนาตัวเองได้แบบ “ถูกหวย” หรือ “ฟลุ๊ค” ไม่มีชาติใดหรอกครับที่ไม่เคยเสียน้ำตา เจ็บปวด พ่ายแพ้จากผลพวงของความล้มเหลว แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเรียนรู้บทเรียนของความผิดพลาดเหล่านั้น แล้วเริ่มก้าวเดินใหม่อย่างระมัดระวังโดยที่ยังไม่สูญเสียความหวังไงล่ะครับ
สำหรับฉบับหน้า ผู้เขียนจะเล่าถึงกลุ่มประเทศที่ได้รับการจับตาต่อจาก BRIC ซึ่งกลุ่มที่ว่านี้ฝรั่งเขาเรียกว่า Next 11 ครับ
….สวัสดีปีใหม่ 2554 ครับ
เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. www.wikipedia.org
2. Jim O’ Niell, The World Needs Better Economic BRICs
3. Goldman Sach, Dreaming with BRICs: The Path to 2050