เนื้อหาวันที่ : 2011-01-07 11:22:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 740 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 7 ม.ค. 2554

1. จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 53 ขยายตัวร้อยละ 23 ต่อปี
-  กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า  ในเดือน ธ.ค. 53   มีผู้ประกอบธุรกิจขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เป็นนิติบุคคล ประเภทห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด ทั่วประเทศ จำนวน   3,112  ราย  มีเงินทุนจดทะเบียนจำนวน  11,183 ล้านบาท ทั้งนี้สถิติจดทะเบียนจัดตั้ง  เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 52 เพิ่มขึ้น 659   ราย หรือร้อยละ  26 9 ต่อปี และส่งผลให้ทั้งปี 53 มีการจดทะเบียนจัดตั้งรวมเป็นจำนวน50,776  ราย  เพิ่มขึ้น  9,533  ราย จากปีก่อนหน้า หรือขยายตัวร้อยละ 23 ต่อปี

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สอดคล้องกับเครื่องชี้ภาคการลงทุนในปี 53 ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยในเดือน พ.ย. 53 ปริมาณการขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 37.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า บ่งชี้ สถานการณ์ลงทุนในประเทศ ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 53 และปี 54 การลงทุนจะขยายตัวร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.3 – 12.3 คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 53) ตามลำดับ

2.  ออมสินประเดิมปล่อยกู้ประชาวิวัฒน์ 14 ก.พ. ถึง  31 ก.ค. 2554 
-  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารตั้งวงเงินปล่อยกู้โครงการประชาวิวัฒน์ไว้ 2,000 ล้านบาท โดยจะปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ โดยผู้กู้จะต้องรวมตัวเป็นกลุ่มไม่น้อยกว่า 10 คน แต่ไม่เกิน 25 คน

ซึ่งธนาคารจะปล่อยกู้ให้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ผ่อนชำระ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 6% ต่อปี ทั้งนี้ ธนาคารจะเริ่มลงทะเบียนปล่อยกู้ประชาวิวัฒน์ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.ถึง 31 ก.ค. 2554 โดยเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบอาชีพทั้ง 3 อาชีพ เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำเมื่อเทียบการกู้นอกระบบ

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างกลุ่มดังกล่าว เป็นการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้มีรายได้น้อย  ลดปริมาณผู้กู้เงินนอกระบบ และเพิ่มโอกาสในอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้มีรายได้น้อยอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนในปี 2554 ให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น จากในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค. – พ.ย. 2553) ที่มียอดสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินในประเทศที่ 9.7 ล้านล้านบาทหรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

3.  ภาคบริการของสหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น
-  ภาคบริการของสหรัฐซึ่งมีขนาดใหญ่ประมาณร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นหลังจากที่ตัวเลข Institute for Supply Management’s non-factory index (ISM service) ในเดือนปรับตัวดีขึ้นมามากที่สุดในรอบ 4 ปี โดยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.1 และสูงกว่าค่ากลางที่สำนักข่าว Bloomberg คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 55

สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นมาจากตัวเลข Manufacturing PMI ที่ปรับตัวสูงขึ้นมามากที่สุดในรอบ 7 เดือนที่ระดับ 57.0 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวมน่าจะมีแรงขับเคลื่อนไปในไตรมาสที่ 1 และเริ่มมีการฟื้นตัวที่มีสัญญาณที่ชัดเจนขึ้น 

-  สศค. วิเคราะห์ว่าสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2554 สามารถขยายตัวร้อยละ 2.7 หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 – 2.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามการจ้างงานของสหรัฐฯ น่าจะยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวโดยล่าสุดอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 53 อยู่ที่ระดับสูงที่สุดในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ 9.8 ของกำลังแรงงานรวม

ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องดำเนินมาตรการด้านการเงินแบบผ่อนคลายหรือ Quantitative Easing ระรอกที่ 2 ในวงเงิน 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่อเนื่อง ทั้งนี้สถานะการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้นนั้นอาจยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะยั่งยืนหรือไม่ ดังนั้นจึงควรมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป