เนื้อหาวันที่ : 2011-01-07 09:18:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 716 views

จีนทุ่มงบพัฒนาพื้นที่เกษตร เร่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร

กระทรวงทรัพยากรและที่ดินจีน เผยว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณ ๑.๕ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับพัฒนาและรักษาพื้นที่การเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารประเทศในช่วง ๕ ปีต่อจากนี้ โดยจะเตรียมพัฒนาพื้นที่ ๒๕ ล้านไร่ และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอีก ๔.๑๘๗๕ ล้านไร่ในพื้นที่ปลูกธัญพืชสำคัญของประเทศ ซึ่งได้แก่ มณฑล Hebei, Jilin, Heilongjiang, Jiangsu, Anhui, Jiangxi, Shandong, Hubei และเขตฯInner Mongolia และ Guangx

รัฐมนตรีกระทรวงที่ดินและทรัพยากรจีนกล่าวว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา ท่ามกลางกระแสการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของสังคมเมืองอย่างรวดเร็ว พื้นที่เกษตรได้ลดและเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจีนจึงได้พยายามพัฒนาพื้นที่เกษตรโดยการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ก็เป็นเรื่องลำบากยิ่ง เมื่อด้านหนึ่งเราต้องรักษาฐานพื้นที่เกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

แต่อีกด้านหนึ่งเราต้องใช้พื้นที่เพื่อสนองความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจ แนวทางแก้ไขจึงต้องใช้พื้นที่อย่างรู้ค่าโดยลดการเพิ่มของการใช้พื้นที่อุตสาหกรรมและที่พักอาศัย ขณะเดียวกันต้องพยายามเพิ่มพื้นที่เกษตรในประเทศให้มากยิ่งขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยว่า ผลผลิตธัญพืชจีนปี ๒๕๕๓ มีปริมาณสูงถึง ๕๔๖.๔๑ ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๙ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเพิ่มต่อเนื่องมาตลอดเจ็ดปี ส่วนพื้นที่เพาะปลูกปัจจุบันมี ๖๘๖.๖๘๗๕ ล้านไร่ ขยายตัวร้อยละ ๐.๘ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามความปลอดภัยทางอาหารยังคงเป็นสิ่งกังวลใจของผู้นำประเทศ รัฐบาลกลางจีนจึงได้สั่งการให้รัฐบาลท้องถิ่นช่วยกันพัฒนาและรักษาพื้นที่เกษตรทั้งประเทศให้ได้ ๗๕๐ ล้านไร่ เป็นอย่างต่ำ

รองนายกรัฐมนตรี นาย Li Keqiang กล่าวว่า การปรับโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ความเป็น“อุตสาหกรรม สังคมเมือง และเกษตรสมัยใหม่” แต่ละพื้นที่ต้องพัฒนาเศรษฐกิจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และสร้างประโยชน์แก่ตน ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ของจีนหลีกเลี่ยงการพึ่งพานวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้

จีนจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ก้าวทันต่อการแข่งขันบนเวทีโลก และการที่จีนจะสร้างความเป็นอุตสาหกรรม ความเป็นสังคมเมือง พร้อมกับการประกันความมั่นคงทางอาหารชาติได้ รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรมและเกษตรกร

โดยใช้การจัดการเชิงอุตสาหกรรมที่ปรับใช้เข้ากับสภาพแต่ละพื้นที่ รองนายกได้กล่าวอีกว่าระหว่างขับเคลื่อนความเป็นอุตสาหกรรมและสังคมเมือง ต้องพยายามอย่างยิ่งในการลดช่องว่างทางรายได้ หาหนทางเพิ่มการกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้ขั้นต่ำและขั้นกลางที่อาศัยในพื้นที่กำลังพัฒนาในเขตตอนกลาง และตะวันตกของประเทศ