เนื้อหาวันที่ : 2011-01-06 11:53:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 752 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 6 ม.ค. 2554

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดดอกเบี้ยนโยบายกลางปีนี้แตะร้อยละ 2.5 ต่อปี
-  รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นในกลางปีนี้เป็นร้อยละ 2.5 ต่อปี จากปัจจุบันที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี โดยคาดว่าจะรักษาระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากต้องประเมินทิศทางเศรษฐกิจ และควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เกินกว่าที่คาดไว้ ขณะที่คาดว่ากลางปีนี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าแตะระดับ 28.6-28.3 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ และจะแข็งค่าไปที่ 28.0 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ในช่วงสิ้นปี 54

-  สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 54 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษอีกต่อไป ซึ่งหากพิจารณาช่วงก่อนเกิดวิกฤติจะพบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3.25 ต่อปี

จึงมีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับดังกล่าว นอกจากนั้นยังเป็นการแก้ไขปัญหาดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเป็นเวลานานอีกด้วย  ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นอาจใช้เวลานานถึงปลายปี 54 หรือ ต้นปี 55 ส่วนค่าเงินบาทในปี 54 คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 28.5-30.5 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอเจอวิกฤติขาดแคลนแรงงาน 1 แสนคน
-  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอเปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหลายรายเตรียมที่จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน 1 แสนราย ทำให้ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ ทั้งนี้คาดว่าผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ต่ำกว่า 15 รายอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ในประเทศเพื่อนบ้าน

-  สศค.วิเคราะห์ว่า จำนวนผู้ว่างงานเดือนต.ค.53มีจำนวนทั้งสิ้น 3.55 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 37.96 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ก่อน ส่วนใหญ่มีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ร้อยละ 87.2 ของผู้มีงานทำทั้งสิ้น

ขณะที่ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.24 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมการผลิตมีความต้องการแรงงานมากที่สุดถึง 107,609  อัตรา รองลงมาคือภาคบริการจำนวน 101,305 อัตรา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว บ่งชี้ถึงวิกฤตการขาดแคลนแรงงานอันมีสาเหตุจากการลดลงของประชากรแรงงาน อุปทานแรงงานเติบโตไม่ทันกับความต้องการแรงงาน และอัตราการศึกษาต่อในระดับสูง ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น

3.  ยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น
-  สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่ายอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ของโรงงานอุตสาหกรรมในสหรัฐ ณ เดือน พ.ย. 53 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน  โดยที่ยอดคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่นับรวมเครื่องบินและยุทธปัจจัยด้านกลาโหม ณ เดือน พ.ย. 53 ได้ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 2.6 จากเดือนก่อน  อีกทั้งปริมาณความต้องการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ขยายตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 6.3 จากเดือนก่อน

-  สศค. วิเคราะห์ว่าการขยายตัวที่สูงขึ้นของยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐ โดยภาคอุตสาห-กรรมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ต่อจีดีพี อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเปราะบางสะท้อนจากตัวเลขการว่างงานของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.4 เฉลี่ยทั้งปี

สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงเปราะบางสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.1 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ตั้งเป้าไว้ที่ระดับร้อยละ 2 ต่อปี นอกจากนี้ดัชนีราคาบ้านในเดือน ต.ค. 53 ได้หดตัวมากที่สุดในรอบ 1 ปี ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจึงยังคงที่จะใช้มาตราการ  Quantitative Easing 2 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง