1. ครม.เห็นชอบเอกชนร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
- การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ โดยให้ภาครัฐลงทุนค่างานโยธาทั้งหมด ขณะที่ให้เอกชนลงทุนค่างานระบบไฟฟ้า และขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งการบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงตามมาตรฐานการให้บริการตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขในสัญญา
โดยรัฐจะมอบให้บริษัทผู้รับสัมปทานเป็นผู้จัดเก็บค่ารายได้ค่าโดยสารและรายได้เชิงพาณิชย์จากการใช้ประโยชน์โครงสร้างงานโยธาและไฟฟ้าทั้งหมดส่งมอบให้รัฐบาล โดยรัฐจะจ่ายคืนเอกชนในลักษณะค่าจ้างบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง ภายใต้การดำเนินการตามขั้นตอนพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินกิจการของรัฐ
- สศค.วิเคราะห์ว่า การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ช่วยให้เกิดการการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยหากจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยให้ทัดเทียมกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกภายในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า
ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมในแต่ละปี คิดเป็นกว่าร้อยละ 5.5 ของ GDP ต่อปี ในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นเงินกว่า 5.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินลงทุนจำนวนมาก ที่ภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถที่จะระดมเงินทุนได้เพียงพอ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการกู้เงิน และการดำเนินนโยบายการลงทุนต้องคำนึงถึงเสถียรภาพฐานะการคลังของประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพา PPP มากขึ้นในอนาคต
2. ดัชนีอุตฯ พ.ย.53 ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ของปี
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.53 อยู่ที่ 190.36 ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากเดือนก.ย.53 ที่อยู่ที่ระดับ 201.45 เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เดือน พ.ย.53 อยู่ที่ร้อยละ 63.63 ที่ต่ำสุดในรอบ 4 เดือนนับจากเดือนส.ค.53 ที่อยู่ร้อยละ 64.03
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ขยายตัวร้อยละ 25.9 27.1 และ31.2 ต่อปี ตามลำดับ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวได้ดี
เนื่องจากค่ายรถยนต์เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 52 และมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวดีจะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 53 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี
3. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นเดือน พ.ย. ติดลบร้อยละ 0.5 ต่อปี
- สำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่น เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นเดือน พ.ย.53 ติดลบร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 แสดงให้เห็นว่า ภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประมาณการว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย.53 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ต่อปี ส่วนปี 54 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังคงเปราะบาง และจากการส่งออกที่ยังคงขยายตัวในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าในเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินยังคงผ่อนคลายในการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0 – 0.1 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 53 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง