สศอ.-ทีดีอาร์ไอ เผย 6 เดือนแรก ปี 53 ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ FTA ภาคส่งออก 5 หมื่นล้าน นำเข้า 2 หมื่นล้าน
เผย 6 เดือนแรก ปี 53 ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ FTA ภาคส่งออก 5 หมื่นล้าน นำเข้า 2 หมื่นล้าน ชี้ตัวเลขนี้แค่จิบจิบ เร่งหาวิธีชี้ช่องใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ ในภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้น
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยในงานสัมมนา“ติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ภาคอุตสาหกรรมจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ครึ่งแรกปี 2553” ว่า สศอ.และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ดำเนินโครงการติดตามผลกระทบและการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ทำร่วมกับประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ ทั้ง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วระยะหนึ่ง ได้แก่
ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และโครงการเก็บเกี่ยวล่วงหน้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA)
รวมถึงความตกลงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปี 2553 ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA)
ทั้งนี้ การศึกษาการใช้ประโยชน์จาก FTA เดิมและ FTA ใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 มีความสำคัญมาก เนื่องจาก ปี 2553 เป็นปีแรกที่อัตราภาษีศุลกากรของไทยและประเทศภาคีความตกลงสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ภายใต้ FTA เดิมลดลงเหลือร้อยละ 0 ส่วน FTA ใหม่ที่เพิ่งจะมีผลบังคับใช้ สามารถเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้
จากการติดตามตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 6 เดือนแรกของปี 2553 ภาคส่งออกใช้ประโยชน์จาก FTA สูงถึง 50,533 ล้านบาท เพิ่มจากระยะเดียวกันของปีก่อน 14,521 ล้านบาท โดยความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (34,986 ล้านบาท) ติดตามมาด้วยความตกลง TAFTA (5,191 ล้านบาท)
ขณะที่ภาคนำเข้าใช้ประโยชน์ 26,620 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 10,103 ล้านบาท โดยความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (14,078 ล้านบาท) ติดตามมาด้วยความตกลง ACFTA (6,695 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าผู้ประกอบการใช้สิทธิ์จาก FTA ไม่เต็มที่ ซึ่งหากผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่างๆจะทำให้ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรในภาคส่งออกมากถึง 91,924 ล้านบาท ในขณะเดียวกันผู้นำเข้าจะได้รับประโยชน์สูงถึง 41,659 ล้านบาท
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาในรายสินค้าพบว่า สินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก FTA สูงๆ ทั้งในภาคส่งออกและภาคนำเข้า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ยังคงคล้ายกับในปี 2552 คือค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
เช่น รถยนต์ขนส่งบุคคลความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ซีซีที่ส่งออกไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย และออสเตรเลีย รถยนต์ขนส่งบุคคลน้ำหนักน้อยกว่า 6 ตันที่นำเข้าจากญี่ปุ่น และรถยนต์ขนส่งบุคคลความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ซีซีที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์และมาเลเซีย เป็นต้น
ส่วนสินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยที่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ก็ยังคงคล้ายกับในปี 2552 เช่นกัน เช่น ถังเชื้อเพลิงที่ยังไม่ได้ประกอบที่ส่งออกไปมาเลเซีย มอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังไม่เกิน 37.5 วัตต์ที่ส่งออกไปจีน ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์และยานยนต์อื่นๆ ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น และเสาที่มีโครงประสานกันที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย เป็นต้น
“เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จาก FTA ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วสูงสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่ทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่
โดย สศอ.และ ทีดีอาร์ไอ จะทำการประชุมระดมสมองและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ประกอบการโดยตรง และตัวกลางบริษัทตัวแทนศุลกากร (Customs broker) เพื่อระบุประเด็นปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรม ให้สามารถวางแผนที่จะดำเนินการจัดทำและเผยแพร่กรณีศึกษาแนวทางและวิธีการใช้ประโยชน์จาก FTA จากตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยใช้สิทธิประโยชน์ได้รับทราบอย่างต่าอเนื่อง ต่อไป” ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย