เนื้อหาวันที่ : 2007-03-07 09:26:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 992 views

แนะรัฐเร่งแก้กฎหมายผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

ประชาชนร้องรัฐบาลขิงแก่อย่ามัวใส่เกียร์ว่าง จี้แก้ไขกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถให้มีสิทธิ์เบิกจ่ายรักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยเมื่อประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ โวยชอบเอื่อยประชาชนเบื่อหน่ายจึงหันพึ่งทางเลือกอื่นแทน แนะต้องยกเลิกกฎหมายเดิมและร่างกฎหมายฉบับใหม่

จากเสียงสะท้อน และข้อร้องเรียนของผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้เมื่อประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์  เหตุเพราะความล่าช้าจากการร้องขอเอกสารต่าง ๆ ทำให้ประชาชนเลี่ยงไปใช้สิทธิ์อื่นทดแทน ส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แนะให้มีการยกเลิกกฎหมายเดิม และร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้รับการคุ้มครองดูแลเต็มประสิทธิภาพ

.

จากการศึกษาของคณะทำงานสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (Internatinal Health Polioy Program IHPP, ) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านนโยบายสุขภาพและระบบสุขภาพของประเทศ ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ทำการศึกษาข้อร้องเรียนการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ่ายค่าสินไหม หรือแม้แต่ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นกับประชาชนและโรงพยาบาลของรัฐ จากการดำนินการของบริษัทประกันวินาศภัยและกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535

.

นายแพทย์ภูษิต ประคองสาย นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า ปัญหาจากการดำเนินการของบริษัทประกันวินาศภัยภายใต้ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการที่ยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลานาน ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ประสบภัยจากรถเลี่ยงไปใช้สิทธิ์ด้านการรักษาพยาบาลอื่นแทน ทั้งนี้จากข้อมูลมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำการศึกษาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยใน 40 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า  ผู้ประสบภัยจากรถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยเพียงร้อยละ 45 เท่านั้น  แม้ว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่จะถูกบังคับด้วยกฏหมายให้ต้องจ่ายเบี้ยประกันแล้วก็ตามแต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่สามารถตกลงกับบริษัทประกันภัยได้  ผู้ประสบภัยจากรถที่มีสิทธิ์ข้าราชการ ประกันสังคม จึงเลือกรับการรักษาพยาบาลโดยใช้ระบบประกันสุขภาพที่ตนเองมีอยู่ก่อน โดยที่บริษัทประกันภัยเอกชนที่ประชาชนชำระค่าเบี้ยประกันไปแล้ว ไม่เข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้

.

ทั้งนี้บริษัทประกันวินาศภัยมักใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความล่าช้าหรือความไม่สะดวก  เช่น การเรียกร้องเอกสารการแจ้งความหรือเอกสารอื่นๆ ทำให้ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่เลี่ยงไปใช้สิทธิ์อื่นแทน ผลที่ตามมา คือบริษัทประกันวินาศภัยใช้จ่ายเงินไปไม่ถึงร้อยละ 50 ของเบี้ยประกันภัยที่เก็บได้ในแต่ละปี ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี แต่บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับประชาชนสำหรับกรณีตาย ทุพลภาพ ค่ารักษาพยาบาล ไม่ถึงีชร้อยละ 50   ส่วนที่เหลือถือเป็นค่าบริหารจัดการบริษัทและผลกำไร ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวประชาชนถูกบังคับให้ชำระเบี้ยประกันตามกฏหมายเพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในสภาวะที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินในสถานการณ์ที่มีความจำเป็น โดยเบี้ยประกันที่ประชาชนชำระไปทั้งหมด ควรเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เจ็บป่วยหรือผู้ประสบภัยจากรถ จึงคิดว่าน่าจะต้องมีการกลับมาทบทวนแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวใหม่

.

ตามพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 นั้นบริษัทประกันวินาศภัยจะเป็นผู้รับประกันโดยมีกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ดูแลและตรวจสอบว่าบริษัทประกันวินาศภัยดำเนินการตามกฏหมายหรือไม่อย่างไร ซึ่งการเป็นผู้ดูแลนั้นในความหมายคือต้องพยายามปกป้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน แต่ในกฎหมายระบุว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว หากเกิดกรณีชนแล้วหนี หรือรถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้ทำประกันไว้ อาจจะมีปัญหากับบริษัทประกันภัยและผู้ประสบภัยจากรถได้ ดังนั้น พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จึงกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนผู้ประสบภัย โดยให้กรมการประกันภัยเป็นผู้ดูแล และให้บริษัทประกันภัย จ่ายค่าเบี้ยประกันคืนให้แก่กรมการประกันภัย 1.25 - 1.5 เปอร์เซ็นต์ทุกปี  เพื่อนำมารวมกันเป็นกองทุนเงินทดแทน และมอบให้กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการ ในกรณีที่หาผู้รับผิดชอบไม่ได้ ทำให้ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์นอกจากทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลกฏหมายแล้ว ยังมีบทบาทเป็นบริษัทประกันภัยเสียเอง  จึงกลายเป็นว่าได้ประโยชน์จากการแบ่งจ่ายเบี้ยประกันจากบริษัทประกันภัย ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งในบทบาท (Conflict of interest) ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งควรทำหน้าที่กำกับดูแลเพียงประการเดียว

.

น.พ.ภูษิต  กล่าวต่อว่า มาตรการกระตุ้นผู้ประกันตนให้ใช้สิทธิ์ตาม พรบ.นั้นทำได้ยาก เพราะถ้าหากยังอยู่ภายใต้กฏหมายที่เอื้อต่อโครงสร้างและการดำเนินการของบริษัทประกันภัยเอกชนก็เป็นการยากที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงและใช้สิทธิ์ได้  และที่สำคัญคือประชาชนเองหากบริษัทประกันภัยพยายามสร้างเงื่อนไขในการเบิกค่าใช้จ่ายให้เกิดความยุ่งยากและล่าช้าจนทำให้ประชาชนอยากปัดปัญหาความยุ่งยาก โดยไม่คำนึงถึงเงินที่เสียค่าประกันภัยไปแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ในขณะนี้คือให้บริษัทประกันภัยลดขั้นตอนของความยุ่งยากในการเบิกค่ารักษาพยาบาล

.

อย่างไรก็ตามการแก้กฎหมาย พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อาจทำได้โดยการเสนอผ่านกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล รวมทั้งกรรมาธิการสาธารณสุข ให้มีการจัดตั้งองค์กรโดยรัฐขึ้นมาใหม่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกแห่ง โดยให้สถานพยาบาลเบิกค่าใช้จ่ายจาก 3 ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเบี้ยประกันกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี น่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าการดำเนินการภายใต้บริษัทประกันวินาศภัยของเอกชน ทั้งนี้องค์กรใหม่ที่จะเกิดขึ้นไม่ควรสร้างเงื่อนไขอย่างที่เคยเกิดกับบริษัทประกันภัยเอกชนทั่วไป ขณะเดียวกันต้องมีการป้องกันการเบิกจ่ายที่ผิดวิธีและต้องบริหารเบี้ยประกันดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนรวมมากที่สุด