เนื้อหาวันที่ : 2010-12-28 14:51:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 713 views

มะกันคุมเข้มสินค้าภาชนะเซรามิกเปื้อนสารตะกั่ว

สหรัฐฯ ออกข้อแนะนำสำหรับสินค้าภาชนะเซรามิกที่นำเข้าจากต่างประเทศ

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration (FDA) สหรัฐอเมริกา ได้ออกข้อแนะนำ (Guidance) เพื่อความปลอดภัยสำหรับการนำเข้าภาชนะเซรามิก

เนื่องจากการศึกษาของ FDA พบว่า การติดฉลากบนภาชนะว่า “ปลอดสารตะกั่ว” (Lead Free) มีความเป็นไปได้ที่สารตะกั่วอาจปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งจากการประเมินการนำเข้าที่ผ่านมาพบว่า สินค้านำเข้าประเภทภาชนะเซรามิกโบราณ (Traditional Ceramic Pottery) ภาชนะดินเผา (Earthenware) และภาชนะประเภท Mexican Terra Cotta มีสารตะกั่วเกินปริมาณที่กำหนด

สาเหตุที่ FDA ให้ความสำคัญต่อภาชนะลักษณะดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากกระบวนการผลิตอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารตะกั่วจากวัสดุที่ใช้เคลือบซึ่งตกค้างอยู่ในเตาเผา แม้ว่าปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศต่างๆ ได้พยายามปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุเคลือบที่ปราศจากสารตะกั่วแล้ว อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค FDA ได้ออกข้อแนะนำสำหรับผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ผลิตสินค้าดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

          ๑. การผลิตและบรรจุหีบห่อสำหรับสินค้าภาชนะที่ปลอดสารตะกั่ว (Non lead graze pottery: NLG pottery) ควรดำเนินการอยู่ในอาคารต่างหากแยกจากอาคารที่ทำการผลิตสินค้ามีสารตะกั่วเคลือบ
          ๒. การผลิตสินค้าที่มีสารตะกั่วเคลือบในอาคารหนึ่ง ผู้ผลิตต้องระวังไม่ให้สารตะกั่วเข้าไปในพื้นที่ที่ผลิตภาชนะปลอดสารตะกั่ว (NLG pottery) ในอีกอาคารหนึ่ง
          ๓. หากเป็นโรงงานที่เคยผลิตสินค้าที่ใช้สารตะกั่วเป็นวัสดุเคลือบ ผู้ผลิตจะต้องปรับเปลี่ยนเตาเผา เช่น เปลี่ยนฉนวนกันความร้อน และทำความสะอาดโรงงานเท่าที่จำเป็น
          ๔. ให้การฝึกอบรมพนักงานในการผลิตสินค้าภาชนะปลอดสารตะกั่ว

นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อแนะนำดังกล่าวเป็นแนวทางที่จะช่วยให้สินค้าภาชนะที่ติดฉลากว่า “ปลอดสารตะกั่ว” นั้นจะไม่เกิดการปนเปื้อนสารตะกั่วจากขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ ในระยะที่ผ่านมา (๒๕๕๐-๒๕๕๒) ไทยส่งออกสินค้าภาชนะเซรามิกไปสหรัฐฯ มูลค่าเฉลี่ย ๑,๓๐๒ ล้านบาทต่อปี เฉพาะปี ๒๕๕๓ (ม.ค.-พ.ย) ส่งออกมูลค่า ๑,๐๗๘ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๒๐ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรระมัดระวังการผลิตสินค้าภาชนะเซรามิกที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ให้มีสารตะกั่วเจือปน (lead free) โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำของ FDA อย่างเคร่งครัดรายละเอียดข้อแนะนำสามารถสืบค้นได้จาก