ก.ล.ต. เผยผลการดำเนินงานปี 2553 ประสบความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ สอดรับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย รับวิกฤตการเงินโลกทำให้เห็นจุดอ่อนอีกมากที่ต้องเร่งแก้ไข
ก.ล.ต. เผยผลการดำเนินงานปี 2553 ประสบความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ สอดรับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย รับวิกฤตการเงินโลกทำให้เห็นจุดอ่อนอีกมากที่ต้องเร่งแก้ไข
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ในปี 2553 ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ ปี 2553 – 2555 โดยแผนกลยุทธ์ดังกล่าวได้คำนึงถึงความท้าทายจากการที่ตลาดทุนทั่วโลกมีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการเชื่อมโยงกัน ทำให้ตลาดทุนไทยมีความเสี่ยงที่จะหมดความสำคัญในสายตาผู้ลงทุนทั่วโลก
ในขณะเดียวกันระดับความพร้อมของผู้ลงทุนไทยและระบบกฎหมายไทยก็ยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข ประกอบกับวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมาทำให้เห็นบทเรียนของการกำกับดูแลในต่างประเทศที่ไม่รัดกุม ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสอดรับกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยปี 2553 – 2557 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ในปี 2553 ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินงาน
โดยเน้นนโยบาย 5 ด้าน โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ 1. ลดการผูกขาดและสนับสนุนการเชื่อมโยง โดยดำเนินมาตรการเปิดเสรีในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1.1 ผลักดันร่างกฎหมายรองรับการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (demutualization) เพื่อยกเลิกการผูกขาด
เปิดให้มีคู่แข่งในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ ยกเลิกการผูกขาดของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ในการเข้าถึงระบบซื้อขายหลักทรัพย์ และยกเลิกการผูกขาดของ บล. สมาชิกในกระบวนการตัดสินใจในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างตรวจร่าง
1.2 ออกเกณฑ์รองรับการขาย Exchange Traded Fund (ETF) ต่างประเทศและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านกองทุนรวมไทย ลดการผูกขาดของ บลจ. ไทย 1.3 สนับสนุนโครงการ ASEAN Linkage โดยปรับปรุงเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เช่น อนุญาตให้ บล. ไทยนำบทวิเคราะห์ของ บล. ต่างประเทศมาเผยแพร่และเปิดให้บุคลากรของ บล. ต่างประเทศร่วมกับ บล. ไทยให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนไทย
อนุญาตให้สำนักหักบัญชีและศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นสมาชิกของศูนย์รับฝากฯ และสำนักหักบัญชีของไทย เพื่อรองรับการซื้อขายข้ามตลาด 1.4 เปิดให้รัฐบาลต่างประเทศเป็น originator ในการออก securitization 1.5 ประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ผู้ลงทุนไทยลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น 1.6 รวบรวมและเปรียบเทียบเกณฑ์ของกองทุนรวมไทยกับเกณฑ์สากลที่เป็นอุปสรรคในการแข่งขันของ บลจ. ไทย เพื่อนำมาปรับปรุงเกณฑ์และเตรียมรับการแข่งขัน
2. เปิดช่องทางสำหรับสินค้าและบริการใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนมีทางเลือกและมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่ ออกเกณฑ์การจัดตั้ง infrastructure fund รองรับการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชน ออกเกณฑ์การออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ (FX bond) ในประเทศไทย การออก Sukuk การจัดตั้งกองทุนรวมทองคำ (gold fund) ที่ลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งหรือจัดตั้งในรูป gold ETF
รวมทั้งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เพิ่มประเภทของสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิงภายใต้ พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ได้แก่ กลุ่มโลหะมีค่า (เงิน แพลทตินัม) กลุ่มโลหะอื่น (ทองแดง สังกะสี เหล็ก อลูมินั่ม ดีบุก) กลุ่มสินทรัพย์อื่น (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า พลาสติก) และกลุ่มตัวแปรอื่น (ค่าระวาง คาร์บอนเครดิต ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์)
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้ตลาดอนุพันธ์ ออกตราสาร interest rate futures/bond futures อีกด้วย เสนอแนวทางปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งเสริมธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC fund) ต่อกระทรวงการคลัง โดยเน้นเฉพาะธุรกิจที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน
3. ปรับปรุงการกำกับดูแลและประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยการปรับปรุงเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ โดยลดการตัดสินใจแทนผู้ลงทุน ด้วยการยกเลิกเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องประเภทธุรกิจที่เหมาะสมและการใช้ดุลยพินิจในเรื่องความอยู่รอดทางธุรกิจหลังการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนครั้งแรก แต่ยังคงเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. ต้องพิจารณาอนุญาตในเรื่องต้องเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจถูกกฎหมายและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
เน้นคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลและการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน โดยดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีอย่างเข้มงวด ติดตามการทำรายการระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการผ่องถ่ายผลประโยชน์ออกจากบริษัท แก้เกณฑ์ให้ผู้สอบบัญชีต้องสังกัดสำนักงาน
สอบบัญชีที่มีระบบ Quality Assurance ภายใน 1 มกราคม 2556 ให้ชมรมวาณิชธนกิจจัดทำมาตรฐานการทำ due diligence ของที่ปรึกษาทางการเงิน และเริ่มให้มีการเปิดเผยคำถามและคำตอบระหว่าง ก.ล.ต. กับที่ปรึกษาทางการเงินในการปรับปรุงแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น (filing)
จัดทำคู่มือคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในการเสนอขายกองทุนรวม โดยเน้นการแจกแจงและจัดระดับความเสี่ยง รวมถึงให้มี fact sheet สำหรับตราสารที่มีความซับซ้อน เพิ่มความเข้มงวดในการให้คำแนะนำและขายสินค้าที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้า โดยให้ผู้ขายต้องทำความรู้จักลูกค้าและประเมินระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ก่อนให้คำแนะนำหรือขายหลักทรัพย์ให้
กำหนดให้ผู้บริหาร บล. ร่วมรับผิดกรณี บล. หรือลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสมด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนในการกระทำผิด ผลักดันให้สมาคม บล. และ บลจ. จัดทำมาตรฐานการตรวจสอบข้อมูลของตราสารที่ตนจะลงทุนหรือแนะนำให้ลูกค้าลงทุน (due diligence) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน ให้สมาคม บล. จัดทำมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ บล.
ตรวจสอบ บล. และ บลจ. ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 ตรวจสอบกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงครบทุกบริษัท และจะดำเนินการตรวจสอบครบทุก บล. ทุก 3 ปี และครบทุก บลจ. ทุก 5 ปี แก้ไขเกณฑ์การกำกับดูแล Credit Rating Agency เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการจัดการ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เน้นการติดตามแบบบูรณาการ โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และส่วนงานภายใน ในการประเมินและติดตามบริษัทจดทะเบียนที่มีความเสี่ยงสูง
ปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยผลักดันให้มีการออกกฎหมาย เพื่อนำมาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil penalty) และการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) มาใช้ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจและการยอมรับในวงการยุติธรรมและวงการวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ดังกล่าว
4. สร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เพื่อให้ปกป้องประโยชน์ของตนเองได้อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การผ่อนคลายการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากทางการ และเอื้อให้ภาคธุรกิจพัฒนาสินค้าและบริการใหม่สู่ตลาดทุน โดยมีแผนการที่จะผลักดันการให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิด financial planner
นอกจากนี้ ได้ผลักดันการแก้ไขเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้แก่ผู้แทนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเข้าประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีแทน โดยกรมพัฒนาธุรกิจฯ จะแก้ไขเกณฑ์ดังกล่าวหลังเสร็จการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2554 เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาเตรียมความพร้อม
นายธีระชัย กล่าวถึงความสำเร็จในปีที่ผ่านมาเพิ่มเติมว่า “จากการที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและสนับสนุน
การปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนมาโดยตลอด ในปีที่ผ่านมาองค์กร Asian Corporate Governance Association (ACGA) ร่วมกับ CLSA (Credit Lyonnais Securities Asia) Asia-Pacific Markets ได้ประเมินระดับ corporate governance ของประเทศในทวีปเอเชีย 11 ประเทศ และได้เลื่อนอันดับของประเทศไทยสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 4 จากปีก่อนที่ได้อันดับที่ 8 โดยประเด็นที่ได้รับการปรับคะแนนสูงขึ้นมากที่สุด ได้แก่ การที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่น
ในการพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการยกระดับการกำกับดูแลกิจการ ความสำเร็จนี้เกิดจากการประสานความร่วมมือของหลายองค์กร ทั้งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมต่าง ๆ ในตลาดทุน และองค์กรที่เกี่ยวข้องอีกหลายองค์กร สำหรับแผนการดำเนินงานในปีต่อไป ก.ล.ต. จะยังคงดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ปี 2553 – 2555 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และเห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นต่อไป”