รายงานข่าวเผยสหรัฐฯ มีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สินค้ากุ้งจาก เวียดนาม จีน อินเดีย โตทั่วหน้า ขณะที่ไทยยังครองอันดับหนึ่ง
รายงานข่าวจาก National Oceanic and Atmospheric Administration แจ้งว่า ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาประเทศสหรัฐฯ นำเข้ากุ้งเพิ่มมากขึ้นถึง 122.2 ล้านปอนด์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดกยการนำเข้ากุ้งในสี่เดือนหลัง (มิ.ย.-ก.ย.) เริ่มมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากลดลงมาเป็นเวลา 10-11 เดือน
นางสมจินต์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก กรมส่งเสริมการส่งออก เผยว่า ประเทศสหรัฐฯ นำเข้ากุ้งจนถึงเดือนกันยายนคิดเป็นประมาณ 852.8 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.2 โดยในเดือนสิงหาคม การนำเข้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2010 จากผู้ส่งออก 6 ประเทศ พบว่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในเดือนกันยายนมาจากเวียดนาม
ซึ่งส่งออกกุ้งสู่ตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.8 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าได้ถึง 15.2 ล้านปอนด์ และตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกันยายน สหรัฐฯ นำเข้ากุ้งจากเวียดนามเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.5 ซึ่งคิดเป็นปริมาณ 66.1 ล้านปอนด์ ในขณะเดียวกันประเทศจีนส่งออกกุ้งสู่ตลาดสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ซึ่งคิดเป็นปริมาณ 11.8 ล้านปอนด์ และจนถึงเดือนกันยายนสหรัฐฯ นำเข้ากุ้งจากจีนเพิ่มร้อยละ 8.7 ซึ่งคิดเป็นปริมาณ 71.2 ล้านปอนด์
“ประเทศไทย ถือเป็นผู้ส่งออกกุ้งสู่สหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าในเดือนกันยายนที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะนำเข้ากุ้งจากไทยลดลงร้อยละ 7.1 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 41.9 ล้านปอนด์ แต่ภาพรวมตลอดเก้าเดือนแรกของปี 2010 ไทยมีมูลค่าส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯ เกือบ 300 ล้านปอนด์ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.4
สำหรับประเทศอินเดียในเดือนกันยายนมีการส่งออกกุ้งสู่สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 103.2 เป็นปริมาณ 7.2 ล้านปอนด์ และจนถึงเดือนกันยายน สหรัฐนำเข้ากุ้งจากอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 เป็นปริมาณ 40.3 ล้านปอนด์
และสำหรับประเทศเม็กซิโกซึ่งมีปริมาณการส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯ ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายนสหรัฐฯ นำเข้ากุ้งจาก เม็กซิโกลดลงร้อยละ 41.6 คิดเป็นมูลค่าถึง 27.2 ล้านปอนด์ เนื่องจากกุ้งของเม็กซิโกถูกห้ามไม่ให้นำเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนเมษายน
เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ จำกัดจำนวนผู้จับสัตว์น้ำในอ่าวเม็กซิโก และทะเล cortez เพราะพบว่าชาวประมงไม่ใช้เครื่องมือที่ป้องกันการติดร่างแหของเต่า (turtle excluder devices: TED) อย่างไรก็ตามการห้ามนำเข้าจากประเทศเม็กซิโกได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนที่แล้ว” นางสมจินต์ กล่าวเพิ่มเติม
ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก