บีโอไอชู 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดาวเด่นโตต่อเนื่อง เผยทิศทางการลงทุนปีหน้าเร่งเสริมแกร่งคลัสเตอร์อุตฯ วางรากฐานการลงทุนยึดนโยบายพัฒนาอย่างยั่งยืน
บีโอไอชู 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดาวเด่นโตต่อเนื่อง เผยทิศทางการลงทุนปีหน้าเร่งเสริมแกร่งคลัสเตอร์อุตฯ วางรากฐานการลงทุนยึดนโยบายพัฒนาอย่างยั่งยืน
บีโอไอเผย อุตฯอาหารแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มHDD และชิ้นส่วน รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้า ชี้ เป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดาวเด่น ปี 54 เผยทิศทางการลงทุนปีหน้าเร่งสร้างความแข็งแกร่งคลัสเตอร์อุตฯ พร้อมวางรากฐานการลงทุนของประเทศยึดนโยบายพัฒนาที่ยั่งยืน
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “แนวโน้มและทิศทางการลงทุนในประเทศกับมิติใหม่ของเศรษฐกิจไทยในปี 2554” จัดโดย ความร่วมมือระหว่าง สมาคมสโมสรนักลงทุน และ สำนักฝึกอบรม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ว่า
แนวโน้มการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2554 จะอยู่ในระดับใกล้คียงกับปี 2553 ที่มีมูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มอาหารแปรรูป ยานยนต์ และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรม HDD และชิ้นส่วน การผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
โดยปัจจัยสำคัญของการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป็นผลมาจากศักยภาพของการมีกลุ่มคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ในประเทศ อาทิ อาหาร ยานยนต์ HDD เครื่องใช้ไฟฟ้า และปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการผลิตเพื่อส่งออก และจำหน่ายในประเทศ
โดยเฉพาะคาดว่าในปี 2554 จะมีความต้องการของสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก จากนโยบายเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล รวมถึงการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ภาคเอกชน ในขณะที่ภาคเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น
ในปี 2553 ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากปัญหาต่างๆ อาทิ มาบตาพุด การเมือง เศรษฐกิจโลก การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทำให้การลงทุนในบางอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ตามหลังจากที่ปัญหาต่างๆ ได้เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะความชัดเจนของการแก้ปัญหามาบตาพุดที่สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนเพิ่มขึ้น
ประกอบกับพื้นฐานของอุตสาหกรรมไทยที่มีความแข็งแรง จึงมั่นใจว่าจะทำให้การลงทุนในปี 2554 มีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันทิศทางของการแข็งค่าของเงินเยนเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย” นางอรรชกา กล่าว
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์เงินบาทแข็งค่า การปรับอัตราดอกเบี้ย และ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งระดับมีฝีมือและไร้ฝีมือ เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆ ดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
นางอรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ในปี 2554 จะเดินหน้าให้ความสำคัญกับการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทยให้แข็งแกร่งและครบวงจรมากยิ่งขึ้น รวมถึงเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อที่จะวางรากฐานเพื่อให้ประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เข้มแข็ง และยั่งยืน ในระยะยาว
ครอบคลุมการส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับของชุมชน รวมถึงส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคม เป็นต้น
นอกจากนี้มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคตควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานขององค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) เป็นต้น การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ด้วยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนในอนาคต รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบและเครื่องมือการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น