เนื้อหาวันที่ : 2010-12-22 10:03:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2399 views

ก.พลังงานลุยหนุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

กระทรวงพลังงานดันไทยเป็นเมืองแห่งพลังงานทดแทน หนุนเอกชนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ มั่นใจเป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี

กระทรวงพลังงานดันไทยเป็นเมืองแห่งพลังงานทดแทน หนุนเอกชนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ มั่นใจเป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี

กระทรวงพลังงานดันไทยเป็นเมืองแห่งพลังงานทดแทน ผลจากเปิดรับเอกชนลงทุนพลังงานไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ มั่นใจปี 2554-2555 จะมีไฟฟ้าป้อนเข้าระบบเพิ่มตามเป้าหมาย

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเดินหน้าส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในทุกรูปแบบ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะเป็นพลังงานทดแทนประเภทหมุนเวียนที่ใช้แล้วเกิดขึ้นใหม่ได้ตามธรรมชาติ เป็นพลังงานที่สะอาด ปราศจากมลพิษ และเป็นพลังงานที่มีศักยภาพสูง รวมถึงเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาตินำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในปี 2554 ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมีไฟฟ้าเข้าระบบประมาณ 115 เมกะวัตต์ ส่วนในปี 2555 จะมีไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 90 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนให้ความสนใจที่จะเข้ามาผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ตั้งเป้าว่าในปี 2554 จะต้องมีไฟฟ้าเข้าระบบให้ได้จำนวน 190 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนเสนอเข้ามาเกินกว่าเป้าที่กำหนดไว้

แต่อย่างไรก็ตาม นายไกรฤทธิ์ ยอมรับว่า การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลในปี 2554 อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถเข้าระบบได้ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์เท่านั้น เนื่องปริมาณวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เช่น แกลบ ชานอ้อย มีไม่เพียงพอต่อการนำผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ พพ. อยู่ระหว่างการตัดหาวัตถุดิบอื่น เช่น ฟางข้าว เข้ามาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทน

ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ถึงแม้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลจะไม่สามารถเข้าระบบได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็เชื่อมั่นว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งระบบยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย ตั้งเป้าไว้ เนื่องจากจะมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทอื่นเข้ามาทดแทนได้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทย เป็นเมืองแห่งพลังงานทดแทนตามเป้าหมายของกระทรวงพลังงาน” นายไกรฤทธิ์ กล่าว

อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ยังกล่าวอีกว่า แผนการส่งเสริมให้ผลิตกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นไปตามแผนพลังงานทดแทน 15 ปี (ตั้งแต่ปี 2551- 2565) ที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ

เพื่อลดการลงทุนของภาครัฐในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่า 3,800 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท และยังเป็นการสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ โดยการพัฒนาประเทศสู่ศูนย์กลางการส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพ และเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ได้แก่ เซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูง เป็นต้น