เนื้อหาวันที่ : 2010-12-20 09:59:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2415 views

คลังผลักดันปั้นหมอหนี้ หวังแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

คลังเดินหน้าผลักดัน ธ.ก.ส. ออมสิน ปั้นหมอหนี้ทั่วประเทศ หวังช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ สร้างความเข้มแข็งทางการเงินภาคครัวเรือน พร้อมเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน

นายกรณ์  จาติกวณิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 


คลังเดินหน้าผลักดัน ธ.ก.ส. ออมสิน ปั้นหมอหนี้ทั่วประเทศ หวังช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ สร้างความเข้มแข็งทางการเงินภาคครัวเรือน พร้อมเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน


คลังดัน  ธ.ก.ส.  ออมสิน  ปั้นหมอหนี้  88,000 คนทั่วประเทศ  หวังเปิดโอกาสให้คนจนในชนบทเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ  ช่วยลดปัญหาการกู้หนี้นอกระบบ พร้อมกระตุ้นการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินภาคครัวเรือน ด้วยการทำบัญชีครัวเรือน


เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2553 ที่กระทรวงการคลัง นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาการเงินภาคครัวเรือน (หมอหนี้) และการต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน (คลังในบ้าน) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการระบบการเงินในภาคชนบทให้มีความเข้มแข็ง


สร้างโอกาสให้คนจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เพื่อทดแทนเงินกู้นอกระบบในระยะยาว โดยมี นายกรณ์  จาติกวณิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  พร้อมคณะผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง  และผู้แทนอาสาสมัครหมอหนี้ ให้การต้อนรับ


หลังเสร็จสิ้นการเสวนา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงิน ด้วยการออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนผ่านกลไกของสถาบันการเงินของรัฐ


โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ซึ่งผลจากการแก้ไขปัญหาในรอบแรกปลายปี 2552 มีผู้มาลงทะเบียนได้ตามเป้าหมาย 1 ล้านคน ซึ่งธนาคารของรัฐทั้ง 2 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  และธนาคารออมสิน รับโอนลูกหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบได้ถึง 5 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ถึง 4.1 หมื่นล้านบาท


ทำให้ลูกหนี้สามารถลดภาระในการจ่ายดอกเบี้ยได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท โดยลูกหนี้เหล่านี้ไม่มีใครเป็นหนี้เสียแม้แต่รายเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลใช้กลยุทธ์การต่อยอดด้วยการจัดทำบัตรลดหนี้ วินัยดี มีวงเงิน ถือเป็นการดูแลลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงินที่ดี เมื่อเดือดร้อนก็สามารถกู้กลับคืนไปได้ กลยุทธ์นี้ทำให้ลูกหนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบและเป็นการตัดวงจรไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีกครั้ง


อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังกู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ได้ หน้าที่ของรัฐบาลคือ ต้องแก้ไขให้คนยากจนเข้าถึงแหล่งเงินดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่การให้ฟรี หรือการชำระหนี้แทน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ประชาชนพร้อมจะทำมาหากิน และชำระหนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม จึงมอบหมายให้ ธ.ก.ส. และออมสิน ดำเนินโครงการหมอหนี้ขึ้นทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 1 คน


เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน คอยติดตาม คอยประสานงานระหว่างชาวบ้านกับธนาคาร รวมทั้งเป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้เงินอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกไปอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบอีก


นายกรณ์  จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หมอหนี้ คือ อาสาสมัครที่จะไปดูแลและสร้างเสริมสุขภาพทางด้านการเงินให้กับชาวบ้าน ที่มีอยู่กว่า 88,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นผู้ที่จะมาช่วยสร้างวัฒนธรรมและสร้างวินัยทางการเงินในระบบฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โจทย์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทำอย่างไรไม่ให้คนเข้าสู่การเป็นหนี้นอกระบบตั้งแต่แรก คำตอบคือ ต้องมีธนาคารชุมชนหรือธนาคารในระดับหมู่บ้าน


กระทรวงการคลังจึงได้จัดทำโครงการ “คลังในบ้าน” โดยให้ ธ.ก.ส. กับออมสิน ให้สินเชื่อแบบโฮลเซล แก่องค์กรการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ ธนาคารชุมชน เพื่อให้สถาบันเหล่านี้ นำไปปล่อยกู้ต่อแก่สมาชิก พร้อมกำหนดเงื่อนไขการกู้ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่


ซึ่งจะทำให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่าย โดยในส่วนของหมอหนี้ก็จะมาทำหน้าที่เชื่อมโยงในจุดนี้ ด้วยการคัดกรองผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ตั้งใจประกอบอาชีพ  ได้มีโอกาสใช้บริการทางการเงินที่อยู่ในระบบเหล่านี้ด้วย


นายลักษณ์  วจนานวัช  ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) โดยให้ชุมชนคัดเลือกผู้ที่มีจิตอาสา มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับนับถือและไว้วางใจของคนในชุมชน มาอบรมให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินในครัวเรือนไปแล้ว จำนวน 650 ราย จาก 13 จังหวัด ได้แก่


เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร หนองคาย ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี และศรีสะเกษ และจะดำเนินการอบรมหมอหนี้ชุดต่อๆ ไป จนครบ 26,000 คน ตามเป้าหมายในปี 2554  ส่วนการยกระดับกองทุนหมู่บ้านขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชน ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 265 แห่ง


ด้านนายเลอศักดิ์  จุลเทศ  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้วางรากฐานให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในการเพิ่มศักยภาพไปสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน พร้อมกับการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตลอดจนเครื่องใช้สำนักงาน


ซึ่งปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ธนาคารออมสินได้พัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นสถาบันการเงินชุมชนพร้อมทั้งจัดโครงการฝึกอบรมโปรแกรมบัญชีสถาบันการเงินชุมชน ไปแล้วจำนวน 1,812 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจะเพิ่มเป็น 2,500 แห่งภายในสิ้นปี 2553 นี้ และจะมีจำนวน 30,000 แห่งภายในปี 2555


และได้ฝึกอบรมอาสาสมัครหมอหนี้ไปแล้วจำนวน 12,404 คน จาก 76 จังหวัด พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปีนี้ จะมีหมอหนี้ไม่ต่ำกว่า 180,000 ราย โดยทั้ง 2 โครงการนี้จะดำเนินการควบคู่เพื่อขจัดปัญหาด้านการเงินของประชาชนในระดับฐานรากได้เป็นอย่างดี


ธนาคารออมสิน โทร. 0-2299-8000
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  โทร. 0-2280-0180


ที่มา : กระทรวงการคลัง