เนื้อหาวันที่ : 2010-12-20 08:53:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1382 views

CPF เตรีมใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สนองนโยบายลดโลกร้อน

CPF เตรียมใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดการปล่อย CO2 สู่โลก ขณะที่ Biogas จากระบบบำบัดไปได้สวย ลดใช้น้ำมันเตาได้ 3.66 แสนลิตรต่อปี

นายศุภชัย อังศุภากร
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)


CPF เตรียมใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดการปล่อย CO2 สู่โลก ขณะที่ Biogas จากระบบบำบัดไปได้สวย ลดใช้น้ำมันเตาได้ 3.66 แสนลิตรต่อปี


นายศุภชัย อังศุภากร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด


ล่าสุด ได้วางแผนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาต้มน้ำร้อนทดแทนการใช้น้ำมันเตาในการผลิตน้ำร้อนเพื่อป้อนเข้าหม้อไอน้ำ “โครงการระบบผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน” ด้วยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 195 แผง บนเนื้อที่ 882 ตร.ม. โดยจะเริ่มต้นโครงการนำร่องที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีเป็นแห่งแรก


“โครงการนี้จะเกิดขึ้นภายในต้นปี 2554 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานภายในโรงงานได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1.6 ล้านบาท และยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศได้อีกปีละ 280 ตัน ซึ่งถือเป็นอีกโครงการหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญเสมอมา”


ซีพีเอฟมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ซึ่งจะมีการติดตามผลและนำไปปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ก็พบว่าสามารถลดเหตุรำคาญเรื่องกลิ่นและก่อให้เกิดพลังงานทดแทนสำหรับใช้ภายในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


โดยในปี 2553 ที่ผ่านมาโครงการนี้ทำให้โรงงานลดการใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิตได้มากถึง 366,000 ลิตรต่อปี หรือ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถึงปีละ 6.6 ล้านบาท ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม นับว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 15,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า 88 ไร่


สำหรับระบบบำบัดน้ำนี้จะมีการปิดด้านบนของบ่อบำบัดด้วยผ้าใบ PVC อย่างมิดชิด ภายในบ่อออกแบบให้มีกำแพงบังคับทิศทางการไหลของน้ำ (Anaerobic Baffle Reactor : ABR) ด้วยลักษณะการไหลขึ้น-ลงภายในบ่อ


ทำให้เกิดการสัมผัสระหว่างน้ำกับเชื้อจุลินทรีย์อย่างเต็มที่ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายอย่างสมบูรณ์กลายเป็นก๊าซชีวภาพ โดยระบบสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นการผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุดถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งนอกจากจะช่วยกักเก็บกลิ่นไม่ให้รบกวนชุมชนได้เป็นอย่างดีแล้ว


โรงงานยังสามารถนำก๊าซดังกล่าวไปใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเตา ขณะเดียวกันน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วก็ยังมีคุณภาพของน้ำที่จะปล่อยลงสู่ลำรางสาธารณะเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด ซึ่งโรงงานได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดส่วนหนึ่งกลับมาใช้ภายในโรงงานเพื่อรดต้นไม้ที่อยู่รายรอบโรงงานด้วย