1. ยอดขายรถยนต์ในเดือน พ.ย. ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ที่ร้อยละ 38.3 ต่อปี
- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานว่า ตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายนมีปริมาณการขาย 78,874 คัน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ที่ร้อยละ 38.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตลาดรถยนต์นั่งมีปริมาณการขาย 33,594 คัน เพิ่มขึ้น 39.7% ด้านตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีปริมาณการขาย 45,280 คัน เพิ่มขึ้น 37.3%
ส่งผลให้ 11 เดือนแรก ตลาดรถยนต์ มีปริมาณการขายสะสม 707,235 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 48.3 ต่อปี ซึ่งเป็นยอดขายที่สูงกว่ายอดขายทั้งปีของปี 2548 (703,432 คัน) ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมียอดขายรถยนต์สูงที่สุด
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์สูงดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องชี้สำคัญ ซึ่งสะท้อนถึงการขยายอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งจากการบริโภคภาคเอกชน (ยอดขายรถยนต์นั่ง) และการลงทุนภาคเอกชน (ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์) แม้ว่าจะมีการชะลอลงบ้าง จากฐานที่ปรับสูงขึ้น บ่งชี้ถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในเดือน ธ.ค. 53 ยอดขายรถยนต์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก จากการจัดงาน มอเตอร์เอกซ์โป ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากการที่บริษัทผลิตรถยนต์ทุกค่ายจะมีการแข็งขันกันให้ข้อเสนอพิเศษต่างๆ ในช่วงปลายปี นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคนิยมมาใช้รถยนต์ขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์สะสมในปี 53 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
2. รมว.พลังงาน คาดกองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาดีเซลได้ 3-4 เดือน
- สำนักงานรมว.พลังงาน เผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย บริหารพลังงาน (กบง.) จะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5 พันล้านบาท เพื่อเข้าดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ราคาดีเซลทั้ง B3 และ B5 จะลดลง 30 สตางค์/ลิตรในวันที่ 17 ธ.ค. 53
พร้อมทั้งคาดว่าวงเงินกองทุนน้ำมันดังกล่าว จะช่วยดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน ระดับ 30 บาท/ลิตร ไปได้อีก 3-4 เดือนหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังทรงตัวในระดับปัจจุบัน คือ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปัจจุบันกองทุนน้ำมัน มีเงินสดรวม 27,617 ล้านบาท
- ฝ่ายเลขาฯ วิเคราะห์ว่า มาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นการช่วงพยุงต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ซึ่งเป็นการลดแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14
ซึ่งหากวิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่าดัชนีในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวขยายตัวถึงร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 53 จะอยู่ที่ 76.5ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลและอัตราเงินเฟ้อทั้ว (Headline Inflation) จะขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี
3. Moody’s ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสเปน
- สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนที่ปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ Aa1 พร้อมปรับ Outlook ของประเทศสเปนเป็น Negative จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ Stable เนื่องจาก Moody’s คาดว่าสเปนอาจมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในปี 2011 เนื่องจากนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะลดการลงทุนในสเปนลงหากสเปนเข้าขอรับความช่วยเหลือจาก EU และ IMF นอกจากนั้น Moody’s อยู่ระหว่างการประเมินต้นทุนการ Recapitalization ของธนาคารในสเปน
ซึ่งหากมีต้นทุนที่สูงกว่าระดับที่เคยคาดการณ์ไว้ จะส่งผลให้ Public debt ratio ของสเปนปรับเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้ง Moody’s มีความกังวลว่าการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินและการควบคุมวินัยทางการเงินของรัฐบาลสเปนยังไม่เพียงพอที่จะสามารถควบคุมวินัยทางการเงินในช่วง 3 – 4 ปีข้างหน้าได้ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งยังไม่สามารถทำตามเป้าหมายของงบประมาณปี 2010 ได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ว่าสัญญาณความเสี่ยงดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดเกิดภาวะวิตกกังวลต่อการลงทุน (Risk aversion) และส่งผลค่าเงินภูมิภาคซึ่งรวมถึงค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลงมาโดย ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาที่ระดับร้อยละ 30.11 บาทต่อดอลลาร์สรอ.ในวันที่ 16 ธ.ค.จากระดับ 30.03 บาทต่อดอลลาร์สรอ. ในช่วงวันก่อนหน้า ตามกับภาวะเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ถึงประมาณ 5,000 ล้านบาทและการปรับลดลงของดัชนี SET index ในวันที่ 15 ธ.ค.
ซึ่งสอดคลัองกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาคอื่นๆและเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดภูมิภาคซึ่งส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาคอาทิ วอนและดอลลาร์สิงค์โปร์อ่อนค่าลงที่ร้อยละ 0.23 และ 0.26 จากวันก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป คาดว่าค่าเงินบาทและภูมิภาคจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ที่ปรับตัวดีขึ้น
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง