คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติรถไฟที่บริษัท เจอาร์ เวสต์ ประเทศญี่ปุ่น ให้ฟรี 32 ขบวน คาดใช้งบประมาณกว่า 128 ล้านบาท ดัดแปลงตกแต่งก่อนนำมาวิ่งให้บริการประชาชน
สำนักข่าวไทยรายงายข่าว คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติรถไฟที่บริษัท เจอาร์ เวสต์ ประเทศญี่ปุ่น ให้ฟรี 32 ขบวน โดย รฟท.จะใช้งบประมาณกว่า 128 ล้านบาท ดัดแปลงตกแต่งก่อนนำมาวิ่งให้บริการประชาชน |
. |
นายถวิล สามนคร รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ รฟท. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้อนุมัติการนำเข้ารถไฟใช้แล้วจากบริษัท เจอาร์ เวสต์ ประเทศญี่ปุ่นอีก 32 ขบวน โดยบริษัทฯ ดังกล่าวได้ให้เปล่า โดยไม่คิดค่าตอบแทนแต่อย่างใด ซึ่ง รฟท.จะนำมาดัดแปลงและตกแต่งให้มีสภาพใหม่ เพื่อนำมาให้บริการประชาชน โดยใช้งบประมาณตกแต่งขบวนละ 3-4 ล้านบาท รวม 128 ล้านบาท ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ รฟท.ไปเจรจารายละเอียดกับบริษัทฯ เกี่ยวกับการขนย้ายรถไฟจากญี่ปุ่นมาที่ไทย คาดว่าบริษัทฯ จะทยอยจัดส่งรถไฟให้ รฟท.ลอตแรกในเดือนมิถุนายนนี้จำนวน 8 ขบวน และครบทั้งหมดภายในเดือนตุลาคมนี้ |
. |
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น รฟท.จะต้องลงทุนเปลี่ยนเพลาใหม่ และปรับเปลี่ยนบันไดขึ้นลงให้ต่ำลง เพราะรถไฟของญี่ปุ่นใช้บันไดสูงวิ่งในความเร็วประมาณ 70-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่ระบบรางของรถไฟญี่ปุ่นและของไทยไม่เหมือนกันทำให้ต้องวิ่งช้า จากปกติที่รถไฟญี่ปุ่นวิ่งได้ความเร็วมากถึง 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ส่วนภายในขบวนรถตกแต่งเป็นรถนอนห้องละ 4 เตียง |
. |
ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการ รฟท.อนุมัติแล้ว รฟท.จะทำหนังสือสอบถามกับบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด หรือ บทด.ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกันว่าจะขนขบวนรถไฟทั้ง 32 ขบวนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะต้องเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาบริหารจัดการภายใน 2 เดือนข้างหน้า แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าจะต้องหาแคร่สำรองมาเปลี่ยน เนื่องจากรถไฟที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นไม่สามารถนำมาวางลงรางได้ทันที ส่วนค่าใช้จ่ายในการขนย้ายทั้งหมด รฟท.เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด โดยหลังจากที่นำเข้ารถไฟจากญี่ปุ่นจะต้องตกแต่งขบวนรถใหม่ทั้งหมดให้เป็นรถนอนและใช้งานได้ประมาณ 10-15 ปี โดยจะนำมาให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ , กรุงเทพฯ-บัตเตอร์เวอร์ธ (เส้นทางเดินรถไฟระหว่างประเทศจากปัจจุบันให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซา) กรุงเทพฯ-สุไหโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และกรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช โดยการลงทุนปรับเปลี่ยนขบวนรถดังกล่าวนั้น คาดว่าจะคุ้มทุนภายใน 4 ปีข้างหน้า. |