เนื้อหาวันที่ : 2010-12-15 15:15:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 710 views

ไทยกำลังขาดแคลนนักวิจัยข้าว

ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร เปิดเผยเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนเพื่องานวิจัยข้าวไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันไทยกำลังขาดแคลนนักวิจัยข้าว เนื่องจากที่ผ่านมานับแต่อดีตมีการสร้างนักวิชาการด้านข้าวน้อยมาก ราว 200-300 คนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2510-2540 มีการสร้างนักวิจัยข้าวเพียง 50 คน


จากโครงการความร่วมมือระหวางกรมข้าว กรมวิชาการเกษตร กับ IRRI สถานการณ์การสร้างกำลังคนในปัจจุบัน คือ ในระดับอุดมศึกษาสาขาเกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มีการพัฒนาระบบบัณฑิตศึกษาเพื่อวิจัยไม่ทัน เนื่องจากใส่ความพยายามไม่เต็มที่ ทรัพยากรไม่เพียงพอ ในแต่ละปีมีความสามารถในการสร้างบัณฑิตระดับเชี่ยวชาญหรือปริญญาเอกเพียงปีละไม่เกิน 80 คน ในจำนวนนี้เป็นบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเรื่องข้าวไม่ถึงปีละ 10 คน


ขณะที่ความต้องการนักวิจัยข้าวในสาขาวิชาการต่าง ๆ ในปัจจุบัน- 10 ปีข้างหน้า ประมาณการได้ว่ามีความต้องการราว 1,030 คน จากความต้องการจากภาครัฐ (กรมการข้าวและศูนย์วิจัยต่าง ๆ ) 810 คน ความต้องการนักวิจัยในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐ คณะวิชาเกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 15 สถาบัน 150 คน ความต้องการจากภาคเอกชน ประมาณ 50 คน ความต้องการจากหน่วยงานอิสระอื่น ๆ 20 คน โดยในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนระหว่าง ปริญญาโท กับ ปริญญาเอก คือ 3 ต่อ 1


ดร.พงศ์เทพ เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ต้องทำให้เกิดความตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ให้มีการลงทุนด้านทรัพยากรให้พอเพียง ยกเครื่องทั้งระบบ คือ มีการพัฒนาแผนงานวิจัยข้าว (program approach) ผนวกระบบบัณฑิตผู้ช่วยวิจัยกับการวิจัยกับ โครงการวิจัย (integration of gradate assistantship with research project) พัฒนาเครือข่ายบัณฑิตศึกษากับการวิจัยระดับชาติ สร้างเครือข่ายร่วมมือระหว่างหน่วยวิชาการภายในและภายนอกประเทศ การทำอย่างจริงจังจึงจะทำให้เราสามารถสร้างกำลังคนเพื่องานวิจัยข่าวได้อย่างเพียงพอ.