สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ เผยพร้อมหนุนวิชาการด้านข้าว หลังไทยเตรียมตั้งศูนย์วิจัยข้าวแห่งชาติ ที่สุพรรณบุรี ตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมวิทยาการข้าวทั้งระบบ และแหล่งฝึกอบรมของอาเซียน พร้อมผลิตนักวิทย์ฯ รุ่นใหม่
สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ เผยพร้อมหนุนวิชาการด้านข้าว หลังไทยเตรียมตั้งศูนย์วิจัยข้าวแห่งชาติ ที่สุพรรณบุรี ตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมวิทยาการข้าวทั้งระบบ และแหล่งฝึกอบรมของอาเซียน พร้อมผลิตนักวิทย์ฯ รุ่นใหม่
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างการหารือร่วมกับนายโรเบิร์ต สจ๊วต ซิกเลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute-IRRI) ณ ห้องรับรองกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า IRRI ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องสถานการณ์เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเป็นศัตรูพืชที่ระบาดในนาข้าวไม่เฉพาะในประเทศไทย
แต่ยังรวมถึงผู้ผลิตข้าวสำคัญอย่างเวียดนาม รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวของโลกในระยะยาว ด้วยการคิดค้นวิจัยข้าวที่ทนต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น
นอกจากนั้น ยังควรให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพแวดล้อม ด้วยการดูแลให้คำแนะนำเกษตรกรไม่ให้ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีเพื่อการปลูกข้าวมากจนเกินไปนัก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้สนับสนุนและดำเนินการเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วในทุกประเด็น อาทิ การวิจัยผลิตพันธุ์ข้าวที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล น้ำท่วม และความแห้งแล้ง รวมถึงได้มีหารือถึงแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลร่วมกับเวียดนามไปเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากไทยยังคงมีจุดยืนในการเป็นประเทศผู้นำในการผลิตและส่งออกข้าวของโลก
นอกจากนั้น ไทยยังกำลังจะจัดตั้งศูนย์วิจัยข้าวแห่งชาติขึ้นที่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อเป็นแหล่งวิจัย ทดลอง และรวบรวมองค์ความรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้าวทั้งหมดของประเทศ ซึ่งทาง IRRI เองมีความยินดีที่จะสนับสนุนด้วยการร่วมจัดทำแผนการดำเนินงานต่างๆ ด้วย เนื่องจากเล็งเห็นว่าไทยมีศักยภาพเป็นแหล่งฝึกอบรมด้านข้าวของภูมิภาค
ซึ่งการจัดตั้งศูนย์วิจัยดังกล่าวนอกจากจะทำให้เกิดวิทยาการด้านข้าวอย่างครบวงจรแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมให้ไทยผลิตนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านข้าวรุ่นใหม่ได้เพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของโลก ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจาก IRRI ในการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความเชี่ยวชาญ ด้วยการเข้ารับการอบรมหรือวิจัยเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายอีกด้วย
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิจัยข้าวแห่งชาติ เมื่อปีงบประมาณ 2553 โดยจะเริ่มดำเนินการให้เป็นรูปธรรมระหว่างปี 2554-2557 ภายใต้งบประมาณ 700 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของวงการข้าวไทยที่จะมีศูนย์รวมด้านข้าวทั้งหมดไว้ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นแปลงทดลองในรูปแบบ Green House ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ
คำนวณความเข้มของแสง การวางระบบส่งน้ำ การทำงานร่วมกันของกูรูด้านข้าวของไทย การผลิตนักวิทยาศาสตร์ด้านข้าวรุ่นใหม่ ฯลฯ ส่วนเรื่องการพัฒนา พันธุ์ข้าวเพื่อต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ความแล้ง และน้ำท่วม ที่ทาง IRRI ตั้งข้อสังเกตมานั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าวและกรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อาทิ พันธุ์ กข31 ชัยนาท1 รวมถึงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่างๆ
นอกจากนี้ อธิบดีกรมการข้าว ยังกล่าวถึงการมอบพันธุ์ข้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ด้วยการยืนยันว่าพันธุ์ข้าวที่จะมอบให้เกษตรกรนั้นเป็นพันธุ์ข้าวคุณภาพดี สามารถนำไปใช้ทำพันธุ์เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลต่อๆ ไปได้อีกถึง 4 ปี ส่วนที่ยังไม่ได้มีการส่งมอบในเวลานี้เนื่องจากปกติข้าวจะมีระยะพักตัว 4 สัปดาห์ จึงนำมาตรวจอัตราการงอกได้ แล้วหลังจากนั้นจึงจะสามารถส่งมอบให้เกษตรกรตามลำดับ
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย