เนื้อหาวันที่ : 2010-12-13 16:26:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1845 views

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลูกจ้างเฮ รัฐ-เอกชนคิดหนัก

การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยทั่วประเทศ 11 บาทของคณะกรรมการค่าจ้างกลางนับเป็นข่าวดีของผู้ใช้แรงงาน แต่สำหรับรัฐบาลและเอกชนยังมีโจทย์ท้าทายที่ต้องแก้ไข

.
การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยทั่วประเทศ 11 บาทของคณะกรรมการค่าจ้างกลางนับเป็นข่าวดีของผู้ใช้แรงงาน แต่สำหรับรัฐบาลและเอกชนยังมีโจทย์ท้าทายที่ต้องแก้ไข
.

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้มีมติการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 11 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.3 (เป็นระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเล็กน้อย) ซึ่งนับเป็นข่าวดีต่อผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ

.

โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้บริโภคกำลังต้องเผชิญกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายรายการได้ปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า          

.

นอกจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของลูกจ้างแรงงานให้ดีขึ้นแล้ว รัฐบาลยังได้มีแนวคิดที่จะปรับปรุงระบบสวัสดิการของลูกจ้างแรงงางานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างแรงงานนอกระบบ ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เช่น เรื่องของการรักษาพยาบาลและค่าชดเชยเมื่อเจ็บป่วย เป็นต้น

.

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีโจทย์ที่สำคัญรออยู่ในการที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อแนวโน้มการลงทุนทั้งโครงการภาครัฐที่เริ่มเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น          

.

เช่น ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่มีแผนการขยายกำลังการการผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด และโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญเข้ามาขยายฐานการผลิตในไทยอย่างมาก รวมถึงแนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปในระยะข้างหน้า และในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดโครงการใหม่ออกมาอย่างมากมาย

.

หรือในธุรกิจค้าปลีกที่ผู้ประกอบการต่างมีแผนที่จะขยายการลงทุนให้ครอบคลุมในพื้นที่ต่างจังหวัด จากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆส่วน ทำให้ความต้องการแรงงานเพื่อตอบรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเติบโตสูงขึ้นตามมา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีต่อภาวะการมีงานทำของคนในประเทศที่จะสูงขึ้นตาม

.

แต่ด้วยกำลังแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบางภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัจจุบันอัตราการว่างงานของไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด 

.

ขณะที่อัตราการว่างงานเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 1.13 มีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 434,000 คน ขณะที่แผนการลงทุนของรัฐและเอกชนในระยะข้างหน้าจะทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลต่ออุปทานแรงงานตึงตัวได้ในระยะข้างหน้า

.

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องทักษะแรงงานและประสิทธิภาพแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์          

.

กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี เช่น การผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน Eco Car และ การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานมากขึ้น เป็นต้น ทำให้ความต้องการแรงงานที่มีระดับความรู้และมีทักษะฝีมือเฉพาะทางมีแนวโน้มสูงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการว่างงานของไทยโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.1 และมีแนวโน้มขยับลงเล็กน้อยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-1.1 ในปี 2554

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า รัฐบาลน่าจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อรองรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของประเทศ ในการพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทยให้มีคุณภาพ และสามารถแข่งขันได้ในโลกการค้าเสรีที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อาทิ การจัดระบบโครงสร้างการศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับอาชีวศึกษา

.

โดยการวางแผนพัฒนาระบบการศึกษาให้สามารถผลิตบุคคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของสาขาอาชีพ เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดแรงงานและการใช้กำลังแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับวิชาชีพที่เรียนมา เช่น การส่งเสริมและสร้างความเข้าใจต่อการศึกษาในสายอาชีวะ ที่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐอาจต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการรณรงค์สร้างค่านิยมที่ดีต่อการศึกษาในสายอาชีวะ 

.

รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนควรให้มีความทันสมัยและเหมาะสม เพื่อที่จะผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคต เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ไม่เพียงแค่เปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือก แต่ในบางประเทศเริ่มมีความคิดที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดในระยะข้างหน้า       

.

ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทางด้านการศึกษาของภาครัฐจึงมีบทบาทที่สำคัญ นอกจากนี้ภาครัฐควรจะมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรแรงงานเฉพาะ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปวช. หรือผู้ที่ไม่มีการศึกษาสามารถที่จะมีวุฒิทางการศึกษา เพื่อที่จะสามารถยกระดับค่าจ้างแรงงานของตนได้ในระยะข้างหน้า 

.

สำหรับในส่วนของภาคธุรกิจ การปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราดังกล่าวน่าจะสอดคล้องกับที่มีการรับรู้มาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมไทยคงจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นในปีหน้า โดยนอกเหนือจากต้นทุนค่าจ้างที่ปรับขึ้นแล้ว ยังต้องเผชิญกับอัตรากำไรที่อาจลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด          

.

โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้รายได้จากการส่งออกลดลงในรูปเงินบาท รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือที่เป็นปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งทิศทางดังกล่าวย่อมทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้ยังคงแข่งขันได้         

.

โดยสรุป การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำน่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและคุณภาพในการดำเนินชีวิตของผู้ใช้แรงงานได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ภาครัฐและภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้ายมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยในระยะสั้นนอกจากปัญหาสวัสดิการแรงงานของลูกจ้างแล้ว ในมุมมองของภาคธุรกิจปัญหาที่มีความกังวล คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนแรงงานที่สูงกว่าบางประเทศในภูมิภาค

.

ซึ่งการที่ธุรกิจไทยจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะข้างหน้า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งรัฐบาลอาจต้องมีการวางแผนนโยบายเชิงรุกในการพัฒนาศักยภาพตลาดแรงงานไทย โดยเร่งพัฒนาบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น การพัฒนาองค์ความรู้สู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อที่จะสร้างฐานกำลังแรงงานในประเทศให้แข็งแกร่ง

.

สำหรับในระยะปานกลางถึงระยะยาว เพื่อที่จะรักษาแรงงานที่มีฝีมือไว้กับองค์กรภาครัฐและเอกชนควรจัดระบบสวัสดิการแรงงานให้จูงใจมากขึ้น เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือไปยังต่างประเทศที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานตามกรอบ AEC ในปี 2558 รวมถึงการเตรียมพร้อมต่อการเปิดเสรีให้แก่แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยในบางสาขาอาชีพ