เนื้อหาวันที่ : 2010-12-13 10:24:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 915 views

ฟิทช์ ปรับขึ้นอันดับ EXIM BANK เป็นมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
.

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-term Foreign Currency IDR) ที่ ‘F3’

.

อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘AAA(tha)’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

.

อันดับเครดิตของ EXIM มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการบริหารงานในธนาคาร นอกจากนี้ EXIM มีบทบาทในฐานะองค์กรหลักที่ให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้าซึ่งทำให้ธนาคารได้รับการประกันหนี้บางส่วน ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย ธนาคารสามารถรับการชดเชยความเสียหายจากกระทรวงการคลัง

.

หากได้รับความเสียหายจากธุรกิจที่ดำเนินตามนโยบายของภาครัฐ หรือความเสียหายที่เกิดจากธุรกิจประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น

.

การปรับเพิ่มหรือปรับลดอันดับเครดิตของประเทศ จะส่งผลให้มีการปรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารไปในทิศทางเดียวกัน และอันดับเครดิตสนับสนุนในปัจจุบันถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศ นอกจากนี้อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารได้รับการจัดให้อยู่ที่ระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศ

.

ผลการดำเนินงานของ EXIM ปรับตัวดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 346 ล้านบาท ในปี 2552 ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 72% เนื่องจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 เติบโตขึ้นอย่างสูงถึง 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 304 ล้านบาทจากการที่ต้นทุนทางการเงินปรับตัวลดลง อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ระดับ 0.63% ใน 9 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับองค์กรเพื่อการส่งออกอื่นๆในภูมิภาค

.

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 4.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 หรือ 8.2% ของสินเชื่อรวม จาก 4.7 พันล้านบาท หรือ 9.2% ณ สิ้นปี 2551 เป็นผลจากการติดตามหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการเกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ รวมทั้งการตัดจำหน่ายและการตัดบัญชีหนี้สูญ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท หรือ 8.2% ของสินเชื่อรวม          

.

สำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญอยู่ที่ระดับ 2.7 พันล้านบาท หรือ ประมาณ 64% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอยู่ในระดับที่ยังมีความเสี่ยงในการที่จะต้องตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่ม ซึ่งขึ้นอยู่กับมูลค่าคงเหลือของหลักประกันและสินเชื่อ นอกจากนี้การที่ EXIM มีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มและรับประกันการลงทุนในตลาดต่างประเทศ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในระยะปานกลาง

.

EXIM มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุนมากกว่าธนาคารอื่นเนื่องจากการที่ธนาคารไม่สามารถรับเงินฝากจากประชาชนได้ ซึ่งหมายถึงว่าธนาคารมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าและอาจมีความเสี่ยงด้านการหาแหล่งเงินทุนในช่วงที่เกิดวิกฤติในตลาดสินเชื่อหรือตลาดตราสารหนี้                    

.

อย่างไรก็ตามการที่ธนาคารสามารถออกพันธบัตรธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าโดยมีการรับประกันจากรัฐบาล และสามารถพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลในยามที่จำเป็นนั้น เป็นการช่วยบรรเทาความเสี่ยงในเรื่องของการจัดหาแหล่งเงินทุนได้

.

เงินกองทุนของ EXIM อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 17.1% และ 18.4% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 เทียบกับ 19.8% และ 21.0% ณ สิ้นปี 2552 ทั้งนี้อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 23.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 จาก 22.7% ณ สิ้นปี 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนจำนวน 5 พันล้านบาทให้กับธนาคารในปี 2552

.

EXIM เริ่มดำเนินการในปี 2537 โดยธนาคารอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง และถูกตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เป้าหมายหลักของธนาคารคือการส่งเสริมการส่งออก การลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศและการลงทุนในประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศ EXIMไม่สามารถรับเงินฝากจากประชาชนได้