เราลองกลับมาดูสภาพความเป็นจริงของโลกศตวรรษที่ 21 ว่าสิ่งที่คุณหมอ Quesney กล่าวไว้นั้นดูจะเป็นเรื่องที่พ้นสมัยไปมากและมีพัฒนาการ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ความคิดด้านเศรษฐกิจของ Keynes นับเป็นว่ามีอิทธิพลต่อกรอบการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับ Macroeconomic outlook ฉบับนี้พวกเราจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกระแสหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจหรือ Economy Circular Flow ว่าเป็นอย่างไรและจะพาท่านผู้อ่านไปดูสิว่าตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญทางมหภาคที่ นักเศรษฐศาสตร์เขาดูกันนั้นมันมีอะไรบ้าง |
. |
Economy Circular Flow |
การทำความเข้าใจกรอบคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคควรรู้ก่อนว่าผู้เล่น ในระบบเศรษฐกิจมีอะไรบ้าง ดังที่กล่าวไปเมื่อฉบับที่แล้วว่าวิชาเศรษฐศาสตร์แบ่งผู้เล่นในระบบออกเป็น 4 ภาคหรือจะเรียกว่าเป็นหน่วยก็ได้ นั่นคือ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาครัฐบาลและภาคต่างประเทศ แนวคิดเรื่อง Economy Circular Flow ถือเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับรายได้และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของระบบเศรษฐกิจเนื่องจากระบบเศรษฐกิจทั่วไปมีการจ้างปัจจัยการผลิตเพื่อนำมาผลิตสินค้าและบริการ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยมีเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า (Money is medium) ดังนั้นแต่ละครั้งเมื่อเงินถูกหมุนเวียนเปลี่ยนมือย่อมทำให้เกิดรายได้และผลผลิตมวลรวมขึ้นในระบบเศรษฐกิจ |
. |
แต่ก่อนที่เราจะกล่าวถึงการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ ผู้เขียนอยากเล่าที่มา (ตามประสาคนชอบประวัติศาสตร์) ว่าแนวคิดเรื่อง Economy Circular Flow มีที่มาอย่างไร เราอยากให้ท่านผู้อ่านลองหลับตาย้อนกลับไปศตวรรษที่ 18 ในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ได้มีนายแพทย์ประจำพระองค์คนหนึ่งนามว่า Francios Quesney ได้แต่งหนังสือที่ชื่อว่า Tableau economique (1758) แปลเป็นไทยว่า ผังเศรษฐกิจ หนังสือของคุณหมอ Quesney ได้กล่าวถึง ผังเศรษฐกิจไว้ว่า ระบบเศรษฐกิจก็เปรียบเสมือนการไหลวนของโลหิตของมนุษย์ ดังนั้นรายได้ภายในระบบเศรษฐกิจก็เปรียบเสมือนเลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย โดย Quesney ได้แบ่งตัวละครในระบบเศรษฐกิจออกเป็น 3 กลุ่ม คือ |
. |
1. เกษตรกร เป็นผู้ก่อให้เกิดผลิตผลภายในระบบเศรษฐกิจรวมทั้งผลิตวัตถุดิบอันเป็นปัจจัย 4 เลี้ยงประชากร ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเหตุที่ Quesney จัดให้เกษตรกรเป็นหน่วยเศรษฐกิจหน่วยหนึ่งก็เพราะในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ก่อนปี1776) นั้นการทำอาชีพเกษตรกรรมถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติในการผลิตปัจจัย 4 เลี้ยงคนทั้งประเทศ อาชีพเกษตรกรในยุโรปจึงเป็นอาชีพที่สงวนให้กับประชากรในประเทศเท่านั้นส่วนพวกคนต่างด้าวต้องไปทำอาชีพอื่นอย่างค้าชายหรือช่างฝีมือซึ่งค่านิยมในยุโรปสมัยนั้นถือว่าอาชีพเหล่านี้ไม่มีเกียรติ |
. |
2. พ่อค้า ช่างฝีมือและผู้ประกอบวิชาชีพหรือนักอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตผลอันใดให้กับระบบเศรษฐกิจ กลุ่มนี้ ได้แก่ พ่อค้า นักอุตสาหกรรม ช่างฝีมือและผู้ประกอบอาชีพอิสระ อย่างหมอ หรือ ทนายความ เป็นต้น ดังที่กล่าวไปแล้วว่าในยุโรปศตวรรษที่ 18 อาชีพเหล่านี้นี้ไม่ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติแต่อย่างใด |
. |
3. เจ้าของทรัพย์สิน อันหมายถึงเจ้าของที่ดินที่ให้เกษตรกรเช่าที่ดินทำกิน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยชนชั้นขุนนาง พระนักบวช ทั้งนี้สภาพสังคมยุโรปในสมัยศักดินาหรือ Feudalism นั้นนับว่ามีอิทธิพลต่อความคิดทางเศรษฐกิจซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมองปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบด้านเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมแนวคิดต่าง ๆ ถึงปรากฏออกมาแบบนี้ |
. |
เราจะเห็นได้ว่าตัวละครในผังเศรษฐกิจของ Quesney ไม่ได้จัดให้ภาครัฐบาลหรือภาคต่างประเทศเป็นหน่วยหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้แนวคิดทางเศรษฐกิจแต่ดั้งเดิมมองว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งกับระบบเศรษฐกิจกล่าวคือปล่อยให้ระบบมันเป็นไปตามธรรมชาติของมันเอง ซึ่งสอดคล้องกับนักคิดสมัยนั้นอย่าง Adam Smith หรือ David Ricardo |
. |
กลับมาที่ผังเศรษฐกิจกันต่อ Quesney อธิบายไว้ว่า รายได้ของประเทศในระบบเศรษฐกิจ มันไหลวนได้อย่างไร |
จากแผนภาพผังเศรษฐกิจ Quesney เริ่มต้นจาก |
1. เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรแล้วนำไปขายในตลาดสมมติได้เงินรวมทั้งหมด 5 ล้านฟรังก์ เงินดังกล่าวจะถูกจัดสรรโดย - เกษตรกรจะนำเงินดังกล่าวมาเลี้ยงชีพตนเอง 2 ล้านฟรังก์ ถ้าเราดูในแผนภาพจะเป็นลูกศร 1 กล่าวคือ เกษตรกรจะเอาเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้าต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกันเองเช่น ชาวนาจะนำเงินที่ได้จากการขายข้าวสาลีไปซื้อวัวจากเกษตรกรที่เลี้ยงวัว หรือ ชาวประมงจะนำเงินที่ได้จากการขายปลาไปซื้อข้าวสาลี เป็นต้น - เงินที่ได้อีก 1 ล้านฟรังก์ กลุ่มเกษตรกรจะเอาไปจับจ่ายซื้อสินค้าจากพ่อค้า นักอุตสาหกรรมรวมถึงกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระอย่างหมอ ทนายความ ดูลูกศรหมายเลข 2 - เงินอีก 2 ล้านฟรังก์ กลุ่มเกษตรกรก็จะนำไปจ่ายให้แก่เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของปัจจัยการผลิตซึ่งได้แก่ชนชั้นขุนนาง ชนชั้นปกครองทั้งหลาย ในรูปของค่าเช่า รวมไปถึงเสียภาษีให้กับรัฐบาล อย่างที่กล่าวไปตอนต้นแล้วว่าในสังคมศักดินา พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคนแต่ละกลุ่มล้วนแตกต่างกัน หากเรามองเห็นจะพบว่าคนกลุ่มที่ 3 คือ เจ้าของทรัพย์สินเปรียบเสมือนชนชั้นเสือนอนกินกล่าวคือรอให้คนเอาค่าเช่ามาให้โดยที่ตนเองไม่ต้องทำอะไรมาก (ดูลูกศรหมายเลข 3) 2. ในส่วนของเจ้าของทรัพย์สิน เมื่อได้รับค่าเช่าจากเกษตรกรมา 2 ล้านฟรังก์แล้วก็จะแบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วนโดยซื้อสินค้าผลิตผลทางการเกษตรกลับคืนไปยังเกษตรกรอีก 1 ล้านฟรังก์ แล้วก็ซื้อสินค้าจากกลุ่มพ่อค้าอีก 1ล้านฟรังก์ จะเห็นว่าตอนนี้กลุ่มพ่อค้าก็จะมีรายได้ 2 ล้านฟรังก์แล้ว (เกษตรกรซื้อสินค้าไป 1 ล้าน กลุ่มเจ้าของทรัพย์สินซื้อสินค้าอีก 1 ล้าน) กลุ่มพ่อค้าก็จะเอาเงินดังกล่าวไปซื้ออาหารจากกลุ่มเกษตรกรอีกครั้ง (ดูลูกศร 4 และ 5) |
. |
ซึ่งท้ายที่สุด Quesney บอกว่ากลุ่มพ่อค้าและกลุ่มเจ้าของทรัพย์สินเท่ากับใช้เงินที่ตนได้รับจนหมดโดยกลับไปซื้อผลิตผลที่เกษตรกรขาย ซึ่งเท่ากับเกษตรกรก็จะได้รับเงินคืนหมด เป็นอันครบวงจรแรกและวงจรก็จะเริ่มหมุนใหม่เหมือนวงจรโลหิต ดังนั้นบทบาทของเกษตรกรในผังเศรษฐกิจของ Quesney จึงได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ทำให้ระบบเศรษฐกิจไหลเวียนได้นั่นเอง |
. |
เราลองกลับมาดูสภาพความเป็นจริงของโลกศตวรรษที่ 21 ว่าสิ่งที่คุณหมอ Quesney กล่าวไว้นั้นดูจะเป็นเรื่องที่พ้นสมัยไปมากและมีพัฒนาการของวงจรเศรษฐกิจเกิดขึ้นในหลายเรื่องอาทิเช่นเรื่องของ การออม (Saving) ทั้งนี้ในวงจรเศรษฐกิจสมัยใหม่เชื่อว่าเมื่อครัวเรือนมีรายได้เขาจะเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้บริโภค และเงินอีกส่วนหนึ่งจะถูกนำไปออมที่สถาบันการเงินซึ่งสถาบันการเงินก็จะเป็นผู้นำเงินออมไปปล่อยกู้ต่อให้ธุรกิจ ธุรกิจก็จะผลิตสินค้าออกมาขายครัวเรือนอีกทั้งจ่ายภาษีให้รัฐบาลเช่นเดียวกับที่ครัวเรือนต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาล (อันนี้ยกเว้นกรณีที่เรามีรายได้จากการขายหุ้นแล้วไม่ต้องเสียภาษีนะครับ...ฮา) เราจะเห็นได้ว่าแนวคิดของ Quesney ได้พ้นสมัยไปแล้วเมื่อโลกหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมได้บังเกิดความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ตามแต่ผังเศรษฐกิจของ Quesney ทำให้เราได้เข้าใจกลไกของระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยเปรียบรายได้ที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจก็เปรียบเสมือนเลือดที่ไหลเวียนในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งผังเศรษฐกิจดังกล่าวก็ได้พัฒนามาเป็นวงจรกระแสหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่เราจะกล่าวถึงกันต่อไป อ้อ! ผู้เขียนลืมบอกไปอย่างหนึ่งว่าแนวคิดของคุณหมอ Quesney นั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักคิดที่เรียกว่า Physiocrats ซึ่งถ้ามองตามรูปศัพท์ให้ดีจะเห็นว่า Physio นั้นแปลว่าร่างกายที่มีตัวตนจับต้องได้ จึงไม่แปลกที่คุณหมอ Quesney จึงเปรียบเทียบระบบเศรษฐกิจเหมือนกับร่างกายของมนุษย์ |
. |
สำหรับฉบับนี้ผู้เขียนต้องกราบขอโทษผู้อ่านทุกท่านที่ไม่สามารถเล่าเรื่องของวงจรกระแสหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในฉบับนี้ได้เนื่องจากเรื่องที่จะกล่าวต่อไปค่อนข้างยาวและคงต้องอธิบายกันหลายหน้าซึ่งเกรงว่าจะทำให้ผู้อ่านหมดอรรถรสกันไปเสียก่อน...พบกันฉบับหน้าครับ ขอบคุณครับ |
. |
เอกสารอ้างอิง |
- เศรษฐศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด, วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน - ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ , อัมพร วิจิตรพันธ์ และ วิรัช ธเนศวร |