1. นายกฯ วางเป้าให้ไทยผลิตรถยนต์ติด 1 ใน 10 ของโลกใน อีก 4- 5 ปีข้างหน้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังร่วมปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางอนาคตอุตสาหกรรม ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย” ว่า รัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ภายในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีข้างหน้า
หลังภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้มีอัตราการขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องที่ภาคเอกชนมีความกังวลและต้องการให้รัฐบาลช่วยดูแลอุตสาหกรรมนี้ ทั้งในด้านมาตรฐาน ภาษีและการส่งเสริมการลงทุน รัฐบาลจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป
สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 14 ของโลก ในขณะที่เป็นอันดับ 1 ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และเป็นฐานการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน รายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 53 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีการขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 60.8 ต่อปี และมีมูลค่าการส่งออกยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 63.8 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
2. กระทรวงพาณิชย์เผย 3 ไตรมาสแรกไทยใช้สิทธิ GSP กว่า 9.48 พันล้านเหรียญ
กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วง 3 ไตรมาสแรก (ม.ค. – ก.ย. 53) ไทยส่งออกภายใต้สิทธิ GSP (Generalized System of Preferences หรือ ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป) ทุกระบบมีมูลค่า 9.48 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.9 ต่อปี
สศค. วิเคราะห์ว่าสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP เป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 53 สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP คิดเป็นร้อยละ 15.1 ของมูลค่าการส่งออกรวม
นอกจากนี้ สินค้าจากไทยที่ส่งออกไปยังประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP สามารถลดหย่อนภาษีนำเข้าได้กว่า 380 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 11,000 ล้านบาท เป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 53 และ 54 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 25.0 และ 12.0 ต่อปี
3. จีนเพิ่มสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในเดือน ต.ค. 53 ทางการจีนได้เพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอีกจำนวน 262.5 พันล้านเยน (3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นระยะสั้นจำนวน 231.9 พันล้านเยน และระยะยาวจำนวน 30.6 พันล้านเยน ทั้งนี้ จีนได้มีแผนเพิ่มการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลอื่นๆเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการถือสินทรัพย์ต่างประเทศในสกุลเงินดอลลาร์และยูโร
สศค. วิเคราะห์ว่าการเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในมาตรการรองรับความเสี่ยงจากการปรับลดลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนเป็นเงินสกุลดอลลาร์ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 90.0 นอกจากนี้ การถือครองเงินสกุลยูโรยังคงมีความไม่แน่นอนจากปัญหาหนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปส่งผลให้ค่าเงินสกุลยูโรปรับตัวอ่อนลง
ดังนั้น การถือครองพันธบัตรญี่ปุ่นจะทำให้มีผลตอบแทนจากค่าเงินเยนที่แข็งค่า โดยค่าเงินเยนได้ปรับตัวแข็งค่าสูงถึงร้อยละ 10.04 ต่อปี นับตั้งแต่ต้นปี 2553 จึงทำให้ทางการจีนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการการถือครองสินทรัพย์ในรูปของเงินสกุลดอลลาร์
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง