เนื้อหาวันที่ : 2010-12-08 16:25:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 694 views

iTAP เสริมแกร่งโรงสีรายเล็กเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

iTAP ดึงผู้เชี่ยวชาญช่วยผู้ประกอบการโรงสีรายเล็กเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เล็งสร้างแบรนด์ 3 ดาว


iTAP ดึงผู้เชี่ยวชาญช่วยผู้ประกอบการโรงสีรายเล็กเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เล็งสร้างแบรนด์ 3 ดาว


‘โรงสีเบ็ญจวรรณ’ เล็งสร้างแบรนด์ 3 ดาว ได้ iTAP ช่วยต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ยอมรับก่อนหน้าไม่กล้าพัฒนา เกิดการสูญเสียพลังงาน และข้าวแตกหักสูง ผลผลิตไม่มีคุณภาพ แข่งขันไม่ได้ราคา เพราะขาดประสบการณ์ ผู้บริหารอุ่นใจ หลัง iTAP หนุนผู้เชี่ยวชาญเข้าเป็นที่ปรึกษา ปรับแนะวิธีและเทคนิคการสีข้าวที่ถูกต้อง ได้ทั้งทักษะ และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความหวังและมุ่งหมั่นในการสีข้าวต่อไป


จากการสำรวจของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่าในกระบวนการสีข้าวของไทยส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ทั้งในแง่ของปริมาณผลผลิต และความสูญเสียจากการแตกหักของข้าวค่อนข้างสูง


รวมทั้งสิ้นเปลืองพลังงาน เนื่องจากการใช้เครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพและพนักงานขาดความรู้ในการสีข้าว ขณะที่ประเทศไทยมีโรงสีอยู่ทั่วประเทศกว่า 43,000 แห่ง โดยในพื้นที่ภาคอีสานมีโรงสีข้าวกว่า 29,000 แห่ง และเฉพาะที่จังหวัดนครราชสีมามีถึง 4,626 แห่ง


โรงสีเบ็ญจวรรณ ผลิตและจำหน่ายข้าวภายใต้แบรนด์ “ เบ็ญจวรรณตรา 3 ดาว” ตั้งอยู่เลขที่ 188 หมู่ที่ 4 ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ถือเป็นหนึ่งในจำนวนโรงสีที่ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน


นางเบ็ญจวรรณ เจาวัฒนา ผู้จัดการ โรงสีเบ็ญจวรรณ กล่าวว่า ทางครอบครัวดำเนินธุรกิจโรงสีข้าวได้ไม่นาน ประมาณปี 2549 โดยรับซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์เก่าจากโรงสีที่ปิดกิจการมาทำต่อ แต่ด้วยขาดประสบการณ์เพราะไม่รู้วิธีการสีข้าวมาก่อนจึงลองผิดลองถูกมาตลอด 4 ปี ทำให้ในระยะแรกการผลิตข้าวยังไม่จริงจังและมีปริมาณน้อย ประกอบกับต้องลงทุนสูงขณะที่รายได้เข้ามาน้อย ช่วงแรกจึงเน้นธุรกิจรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแล้วนำมาขายต่อให้กับโรงสีในพื้นที่


“ เพราะความไม่ถนัดและไม่มีความรู้เกี่ยวกับการสีข้าว ทำให้ผลผลิตที่ออกมาเกิดความเสียหาย และไม่เคยมีความรู้มาก่อนทั้งในเรื่องของความชื้น การดูเปอร์เซ็นต์ข้าว หรือการใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้ผลผลิตน้อย และไม่ได้ราคา จึงหันไปเน้นทำธุรกิจซื้อมาขายไปข้าวเปลือกมากกว่าเพราะคิดว่าลงทุนน้อยแต่รายได้ดีและได้ทุนคืนเร็วกว่า ”


แต่หลังจากได้ไปศึกษาต่อ MBA จากมหาวิทยาลัยมหาสารจึงได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ในเรื่องของการลงทุนที่ในอดีตไม่กล้า หันมาสนใจที่จะต่อยอดธุรกิจโดยการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ พร้อมวางเป้าหมายที่จะสร้างแบรนด์ “ 3 ดาว” ติดตลาดในพื้นที่ให้ได้ ที่สำคัญยังทำให้รู้ว่าการสีข้าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าข้าวเปลือก จึงตัดสินใจหันมาลงทุนเพิ่มกับการสีข้าว


ประกอบกับได้รู้จักโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) จึงได้เข้ารับความช่วยเหลือในโครงการ “การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าว” ตั้งแต่ปลายปี 2552 ที่ผ่านมา


 iTAP ได้จัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มี ดร.สุรศักดิ์ จันโทริ เป็นหัวหน้าคณะฯ เข้ามาวิเคราะห์กระบวนการผลิตในโรงสี เบื้องต้นพบว่า ข้าวที่สีได้ในแต่ละวันเกิดการสูญเสียไปประมาณ 10% หรือคิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 8,000 บาทต่อวัน ( โดยคำนวณจากการผลิตต่อชั่วโมงสามารถสีข้าวได้ 3 ตันต่อชม.)


เพราะข้าวเปลือกที่ผ่านกระบวนการสี ทุก 1 ตัน จะมีข้าวหักอยู่ 1%ขณะที่โรงสีมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 80 ต้นข้าวเปลือกต่อวัน จึงเห็นว่าจากเดิมที่คิดว่ามีกำไรแล้ว แต่หากลดความสูญเสียดังกล่าวได้ นั่นคือ รายได้ที่จะเพิ่มขึ้น


โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำและปรับปรุงแก้ไขทั้งเรื่องของตะแกรงโยกแยกข้าวกล้อง , ตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรในกระบวนการสีข้าว , ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณข้าวเต็มเมล็ด โดยปรับปรุงสิทธิภาพการสีข้าวเพื่อให้ได้ข้าวต้นเพิ่มขึ้น จากเดิมมีเปอร์เซ็นต์ข้าวหักสูงมาก และไม่เคยมีการวัดค่า


นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้โรงสีเปลี่ยนเวลาเดินเครื่องจากช่วงเวลาทำงานกลางวันเป็นช่วงเวลากลางคืน ที่เรียกว่า TOU ซึ่งเป็นการผลิตช่วงเวลาที่เสียค่าไฟฟ้าน้อยที่สุดตามระบบไฟฟ้าแบบ TOU (ช่วง 22.00 – 09.00 น.)


เดิมการสีข้าวของโรงสีเบ็ญจวรรณจะเดินเครื่อง ในเวลากลางวัน ที่ผ่านมาเสียค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟฟ้าเดือนละ 96,000 – 100,000 บาท บางเดือนสูงถึง 200,000 บาท (ในช่วงที่ต้องใช้พลังงานในการอบข้าวเพิ่ม) หลังทดลองเปลี่ยนเวลามาสีข้าว ในช่วงกลางคืน พบว่า ได้ผล สามารถลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือเพียง 40,000 บาท เท่ากับประหยัดได้ถึงเดือนละกว่า 50,000 บาท


นางเบ็ญจวรรณ “ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพิ่มเติม เชื่อว่าหลังจากที่ปรับปรุงแล้ว แม้กำลังการผลิตจะเท่าเดิม คือ 80 ตันข้าวเปลือกต่อวัน แต่สิ่งที่ต้องการคือ ประสิทธิภาพที่ดีกว่า หมายถึง เปอร์เซ็นต์ข้าวต้นเพิ่มขึ้น และลดปริมาณของเสียลงจากเดิม 10 % หรือคิดเป็น 8,000 บาทต่อวัน หากวันนี้สามารถลดปริมาณของเสียลง เปลี่ยนมาเป็นข้าวต้นเพิ่มขึ้นแม้เพียง 1-2 % ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าการสีข้าวต้องใช้ความรู้เชิงลึก และโชคดีที่ได้ iTAP เข้ามาให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี”


ปัจจุบันผู้บริโภคหรือลูกค้า จะยอมจ่ายเงินในราคาเท่าเดิม เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับโรงสีข้าวที่ต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต นอกจากจะลดต้นทุนแล้ว ที่สำคัญ เพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือกของผู้บริโภค