เนื้อหาวันที่ : 2010-12-07 17:55:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1819 views

ไบโอโกรว์โชว์นวัตกรรมรักษ์โลก ถุงพลาสติกย่อยสลายได้

เผยรณรงค์ใช้ถุงผ้ามากขึ้นไม่ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก ไบโอโกรว์ ชูนวัตกรรมใหม่ พลาสติกชีวภาพ ช่วยเกษตรกร ช่วยลดโลกร้อน เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร


เผยรณรงค์ใช้ถุงผ้ามากขึ้นไม่ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก ไบโอโกรว์ ชูนวัตกรรมใหม่ พลาสติกชีวภาพ ช่วยเกษตรกร ช่วยลดโลกร้อน เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร


ห้วงเวลานี้หากเอ่ยถึงปัญหาโลกร้อน คนส่วนใหญ่อาจจะมุ่งประเด็นไปที่การลดใช้พลังงาน เห็นได้จากป้ายโฆษณาที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต่างออกมารณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน หรือแม้แต่หลาย ๆ องค์กรที่รณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก


เพราะด้วยขั้นตอนการผลิตถุงพลาสติกที่ต้องใช้สารเคมีและพลังงานสูง จึงทำให้ต้องใช้เวลานานในการย่อยสลาย สร้างมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก็ไม่สามารถย่อยสลายตัวได้ตามธรรมชาติ หรือแม้แต่กระบวนการกำจัดด้วยการเผาไหม้ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและทำลายสิ่งแวดล้อมสูง


หลังจากนั้นได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก แต่คุณรู้ไหมว่าการเปลี่ยนจากถุงพลาสติกมาใช้ถุงผ้าแทนนั้นกลับส่งผลกระทบ และช่วยเพิ่มขยะในประเทศไทยให้มากขึ้นไปอีก ในยุคแรกของการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า วัสดุต่าง ๆ จะทำด้วยผ้าฝ้าย ไม่ผ่านการฟอกย้อม หรือใส่สีสันลูกเล่นแต่อย่างไร จึงทำให้มีอายุการใช้งานนาน


คนที่เริ่มต้นรณรงค์หวังว่าหากคนหันมาใช้ถุงผ้ากันมาก ๆ จะช่วยลดการผลิตถุงพลาสติกลง ซึ่งก็ได้ผลดีในหลาย ๆ ประเทศ แต่ในประเทศไทย กลับใช้ถุงผ้าเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรกันอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นการยืนยันว่าองค์กรนั้นรักษาสิ่งแวดล้อม


และที่สำคัญคือ ถุงผ้าที่มีการจ่ายแจก หรือวางขายกันตามท้องตลาดกลับเป็นถุงผ้าดิบที่ผ่านการฟอกย้อม และเต็มไปด้วยสีสัน ทั้งตราองค์กร การกันน้ำ สารกันชื้น เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้การใช้ถุงผ้าไม่แตกต่างกับการใช้ถุงพลาสติกมากนัก จึงทำให้ประเทศไทยไม่ได้ลดจำนวนการผลิตถุงพลาสติกลง ขณะเดียวกันก็ผลิตถุงผ้าเพิ่มมากขึ้น


และด้วยกระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังจะล้นโลก ทำให้พลาสติกชีวภาพกลายเป็นวัตถุดิบใหม่ในอุตสาหกรรมที่หลายประเทศให้ความสนใจในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่ออนาคต และได้มีการประยุกต์ใช้พลาสติกชีวภาพในด้านต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงพลาสติกชีวภาพ แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็กำลังสับสนกับชนิดของพลาสติกที่สลายตัวได้ ซึ่งมีทั้งพลาสติกชีวภาพที่ได้มาตรฐานและที่แอบอ้างว่าเป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ



ดร. ธีรวัฒน์ ธีรภัทรพรชัย จากสถาบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “สำหรับพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เป็นสุดยอดนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์พลาสติกยุคใหม่ สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastics หรือ Compostable Plastics) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผลิตจากพืช ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตยังใช้พลังงานและทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าพลาสติกทั่วไป


และที่สำคัญในกระบวนการกำจัดหลังการใช้พลาสติกชนิดนี้แล้ว จะมีการย่อยสลายทางชีวภาพได้อย่างสมบูรณ์ เพราะจะถูกจุลินทรีย์ในธรรมชาติใช้เป็นอาหารและย่อยสลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งพืชสามารถนำกลับไปใช้ในการสังเคราะห์แสง เพื่อหมุนเวียนกลับมาผลิตแป้งหรือน้ำตาลในพืชได้ต่อไป และสามารถย่อยสลายได้ภายใน 6-9 เดือน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม


และสำหรับพลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า Oxo-Degradable Plastics นั้น ไม่ได้เป็นพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ แต่เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกธรรมดาทั่วไป เช่น พอลิเอทิลีน และอาจประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น โคบอลต์ หรือโครเมียม ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสารเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม และใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 2-5 ปี


ซึ่งหากไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การย่อยสลาย อาจทำให้อยู่นานเป็นร้อยปีได้เช่นกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพลาสติกชีวภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังช่วยลดพื้นที่บ่อฝังกลบขยะได้อีกด้วย หรือแม้แต่ในยุโรปองค์กรต่าง ๆ ก็ได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้มีการใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพแล้วเช่นกัน


สำหรับประเทศไทยได้มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยี และการลงทุนผลิตตั้งแต่เม็ดพลาสติกชีวภาพ จนถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ เช่น ถุงใส่สินค้า ถุงใส่ขยะ บรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ รวมถึงพลาสติกชีวภาพที่มีความแข็งแรง เช่น ชิ้นส่วนในรถยนต์ หรือในอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า”


วรัญญา เกวลี
ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการตลาด บริษัท ไบโอโกรว์ (ทีเอช) จำกัด


วรัญญา เกวลี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการตลาด บริษัท ไบโอโกรว์ (ทีเอช) จำกัด ปิดท้ายว่า “ปัจจุบันมีการใช้ถุงพลาสติกกันมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีการที่จะแก้ปัญหาดั่งกล่าวได้อย่างยั่งยืน คือ การนำถุงพลาสติกทางชีวภาพมาใช้แทน


ดังนั้นบริษัทฯ จึงเล็งเห็นว่า “พลาสติกชีวภาพ” เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำวัตถุดิบทางการเกษตรมาใช้ในการผลิต เช่น แป้งจากข้าวโพด, น้ำตาลจากอ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งนอกจากจะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติแล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตรอีกด้วย


ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บริษัทฯ เริ่มใช้พลาสติกชีวภาพ (Biodegradable Plastics) นำมาใส่สินค้าให้แก่ลูกค้า โดยถุงพลาสติกทุกถุงจะมีข้อความระบุลงบนถุงอย่างชัดเจนว่า “ถุงใบนี้ผลิตจากพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ถึงแม้ว่าถุงพลาสติกที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพจะมีราคาต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติกทั่วไปถึง 7 เท่า


แต่บริษัทฯ ก็มุ่งมั่นที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทย เป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และอ้อย ที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ น่าจะเป็นทางเลือกที่ภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง”


ทั้งนี้ใครจะคิดว่า พืชจำพวก อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด จะกลายสภาพมาเป็นพลาสติกได้ จากการริเริ่มโครงการใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพนี้ น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของปัญหาโลกร้อน อีกทั้งเป็นการเสริมภาพลักษณ์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม


และแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับกระแสลดภาวะโลกร้อนที่กำลังอยู่ในความสนใจขณะนี้