พพ. เตรียมฟื้นการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในพื้นที่เกาะจิก จ.จันทบุรี และชุมชนแหลมรุ่งเรือง จ.ระยอง มั่นใจนำพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ช่วยคนชายขอบในพื้นที่ห่างไกลมีคุณชีวิตดีขึ้น
. |
พพ. เตรียมฟื้นการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในพื้นที่เกาะจิก จ.จันทบุรี และชุมชนแหลมรุ่งเรือง จ.ระยอง มั่นใจนำพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ช่วยคนชายขอบในพื้นที่ห่างไกล สายส่งไฟฟ้าไปไม่ถึง ได้มีไฟฟ้าใช้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น |
. |
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เดินทางตรวจเยี่ยมงานการพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกล และสายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึงชุมชน ในพื้นที่เกาะจิก ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จ.จันทบุรี และชุมชนแหลมรุ่งเรือง อำเภอเมือง จ.ระยอง โดยได้หารือร่วมกับผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า |
. |
สำหรับคนในชุมชน ซึ่งเบื้องต้น พพ. จะได้นำข้อมูลที่สำคัญ อาทิ การใช้พลังงานในชุมชน ปริมาณความต้องการใช้แต่ละครัวเรือน และปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อกำหนดเป็นค่ากำลังผลิต สำหรับการติดตั้งพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป |
. |
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ทั้ง 2 แห่งพบว่า พพ.จะได้เร่งศึกษาถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของชุมชนทั้งจากเกาะจิก และแหลมรุ่งเรือง เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเข้าติดตั้ง เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน โดยคาดว่าจะเร่งให้ความช่วยเหลือได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนนับจากนี้ |
. |
รวมทั้งการส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากสำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ (สพส.) และทีมงานจากสำนักวิจัยค้นคว้าพลังงาน(สวค.) เพื่อเร่งสำรวจศักยภาพในบริเวณพื้นที่ทั้ง 2 แห่งเป็นการด่วน เพื่อเตรียมศึกษาข้อมูลก่อนจะพัฒนาไปสู่ การช่วยเหลือด้วยการเข้าไปติดตั้งพลังงานทดแทนทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว เพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นภายในชุมชนต่อไป |
. |
“พื้นที่ทั้งที่เกาะจิก จันทบุรี และชุมชนแหลมรุ่งเรือง ถือเป็นพื้นที่พิเศษ ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจาก พพ. เป็นการด่วน เนื่องจากพบว่ามีครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่ค่อนข้างมาก ภารกิจของพพ. ขณะนี้จึงมีความจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือคนชายขอบเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้ ด้วยการเร่งเข้าไปติดตั้งพลังงานทดแทน ที่เหมาะสมกับภายในพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง” ดร.ทวารัฐ กล่าว |
. |
สำหรับชุมชนบ้านเกาะจิก ตำบลบางชัน จ.จันทบุรี มีพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ และห่างจากชายฝั่ง 15 กิโลเมตร โดยการเดินทางต้องนั่งเรือจากอ่าวกระป๋อง จ.ตราด เพื่อเข้าสู่พื้นที่ประมาณ 45 นาที สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นเขาและที่ราบ มีครัวเรือนอาศัยอยู่ทั้งสิ้น 139 ครัวเรือน อาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวประมง ปัจจุบันมีความต้องการใช้ไฟฟ้าประมาณ 300 กิโลวัตต์ต่อวัน |
. |
ซึ่งพื้นที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงขนาด 60 กิโลวัตต์ โดยต้องซื้อน้ำมันดีเซลประมาณวันละ 120 ลิตรเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าดังกล่าว และมีความจำเป็นต้องปั่นไฟฟ้าใช้ในช่วง 5 โมงเย็นถึง 7 โมงเช้าเท่านั้น เนื่องจากกำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ และที่สำคัญชาวบ้านในพื้นที่เกาะจิก จำเป็นต้องเสียค่าไฟฟ้าสูงสุดถึง 60 บาทต่อหน่วย |
. |
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เกาะจิก เดิมได้รับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์จากทั้ง พพ. เอง และจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ขนาด 2.5 กิโลวัตต์ และ 7.5 กิโลวัตต์ตามลำดับ แต่ปัจจุบันพบว่าไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้ รวมทั้งการติดตั้งกังหันลมขนาด 5 กิโลวัตต์ ก็ไม่สามารถใช้การได้เช่นเดียวกัน |
. |
ซึ่งเบื้องต้น พพ. มีแผนที่จะเข้าไปติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 30 กิโลวัตต์ในอนาคต เพื่อใช้ในชุมชนโดยรอบเกาะ รวมทั้งในพื้นที่โรงเรียนและสถานีอนามัยของเกาะจิกต่อไป |
. |
ด้านชุมชนแหลมรุ่งเรือง ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำ จ.ระยอง เป็นที่พื้นที่ซึ่งอยู่หลังโครงการของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) มีชุมชนอาศัย 64 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 205 คน โดยภายในชุมชนแหลมรุ่งเรืองสามารถผลิตไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 3 กิโลวัตต์ เพื่อประจุไฟฟ้าไว้ใช้เวลากลางคืนได้ |
. |
แต่ปัจจุบันเนื่องจากชุมชนขยายตัวขึ้น และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน จากการที่สาธารณูปโภคไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งน้ำปะปา และไฟฟ้า พพ.จึงมีแนวคิดที่จะเข้าไปสนับสนุนพลังงานทดแทนเพิ่มเติม ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการติดตั้งกังหันลม เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าในอนาคตต่อไป |
. |
สำหรับปัจจุบันมีพื้นที่ห่างไกลที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึงอยู่ไม่ถึงร้อยละ 1 ของประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ชุมชนบนเกาะที่ห่างไกล ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาล รวมทั้งชุมชนบนภูเขาสูง เป็นต้น ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ยังพบว่ามีชาวบ้านหรือชุมชนที่ประสบกับความยากลำบากในการไม่มีสาธารณูปโภคเข้าถึง โดยเฉพาะไฟฟ้า |
. |
เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงได้ ภารกิจหลักของ พพ. จึงจะเร่งสำรวจความต้องการใช้ไฟฟ้าของชุมชนเหล่านี้ เพื่อจะนำมากำหนดการช่วยเหลือโดยนำพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพื่อเข้าไปบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น |