เนื้อหาวันที่ : 2010-12-03 11:38:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1280 views

ลุ้นไก่ไทยไปยูเออี แนะทำหนังสือด่วนยืนยัน 3 ข้อ

ไก่ไทยมีลุ้นตีปีกนำเข้ายูเออี รมว.พาณิชย์เทียบเชิญตรวจฟาร์มตรวจสอบ กรรมการนำเข้าอาหารแนะทำหนังสือด่วนยืนยัน 3 ข้อ พร้อมชงเข้าบอร์ดพิจารณาสัปดาห์นี้


ไก่ไทยมีลุ้นตีปีกนำเข้ายูเออี รมว.พาณิชย์เทียบเชิญตรวจฟาร์มตรวจสอบ กรรมการนำเข้าอาหารแนะทำหนังสือด่วนยืนยัน 3 ข้อ พร้อมชงเข้าบอร์ดพิจารณาสัปดาห์นี้


นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธีบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงการเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี)ว่า ได้นำหนังสือจากนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์แจ้งถึงความพร้อมส่งออกไก่สดของไทย


ซึ่งปี 2546 ยูเออีเคยนำเข้าถึง 1,789 ตัน (2.73 ล้านเหรียญสหรัฐ)คิดเป็น 98% ของไก่สดที่นำเข้าทั้งหมด ก่อนที่จะตรวจพบโรคระบายเอช 5 เอ็น 1(H5N1)เมื่อกุมภาพันธ์ 47 เป็นเหตุให้ยูเออีระงับการนำเข้าจากไทยนับจากนั้นเป็นต้นมา แต่ในขณะนี้ไทยปลอดโรคระบาดดังกล่าวแล้วตั้งแต่พฤศจิกายน 2551 จึงขอให้พิจารณานำเข้าใหม่อีกครั้ง


“นอกจากนี้ได้เชิญรมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาดูโรงงานผลิตไก่ในไทย คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2554  เพื่อดูความพร้อมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การกักกัน การขนส่ง จนถึงปลายทาง”นางนันทวัลย์ กล่าวและว่า   ทั้งนี้นายกาลิด มูฮัมมัด ชาริฟ อัล-อะลาดี ผู้อำนวยการกรมควบคุมอาหาร เทศบาลเมืองดูไบได้แนะนำให้ไทยเร่งทำหนังสือยืนยันกลับมาโดยเร็ว เพื่อส่งถึง 2 แห่ง คือ 1.คณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำและ 2.กรมควบคุมอาหารฯ


ทั้งนี้หนังสือยืนยัน 3 ประเด็น คือ 1.รายงานขั้นตอนการควบคุมและกักกันในฟาร์มไก่ และการระบุว่า ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันปรุงอาหาร 2.ไทยมีการส่งออกไก่สดแช่แข็งไปที่ใดแล้วบ้าง รวมทั้งมีประเทศใดที่อนุญาตนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทย โดยเฉพาะกลุ่มจีซีซี หรือ สภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย  ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย


และ 3.เอกสารสนับสนุนจากหน่วยงาน องค์การส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ โดยนายกาลิด ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการในสัปดาห์นี้


นอกจากนี้ยังได้แนะนำการส่งออกสินค้ากลุ่มฮาลาลว่า สินค้าที่ไม่มีส่วนผสมของสัตว์ เช่น  ข้าว ผัก นมถั่วเหลือง เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องขอตรารับรองฮาลาล ยกเว้นสินค้าอาหารที่มีส่วนผสมจากสัตว์ที่ต้องมีการรับรองกระบวนการฆ่าตามหลักศาสนาเท่านั้น เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสน อีกทั้งขอให้กำกับเรื่องข้อมูลบนฉลากสินค้าให้ตรงกับสินค้าและภาษาอาระบิกบนฉลากต้องแปลชัดเจนเหมือนภาษาอังกฤษทุกถ้อยคำ


สำหรับการค้าระหว่างไทยกับยูเออีในช่วง 10 เดือนแรก(มกราคม-ตุลาคม 2553)มูลค่า 9,077 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยส่งออกมีมูลค่า 2,349 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.21 % โดยสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑืเหล็ก อัญมณี ในขณะที่ไทยนำเข้ารวมมูลค่า 6,728 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 34% สินค้านำเข้าสำคัญ คือ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น   
 
ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก