เนื้อหาวันที่ : 2007-02-28 12:11:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1602 views

สมอ.จับมือ 8 องค์กรพัฒนามาตรฐานอุตฯ

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลงนามหนุนระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมให้กับ 8 องค์กร ส่วนร่างแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผ่านประชาพิจารณ์แล้ว ตั้งเป้าประหยัดงบประมาณถึง 11,700 ล้านบาท

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้นเตรียมสนับสนุนระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมให้กับ 8 องค์กร ส่วนร่างแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผ่านประชาพิจารณ์แล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. สัปดาห์หน้า  ขณะที่กระทรวงพลังงานตั้งเป้าความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้ประหยัดพลังงานได้ถึง 11,700 ล้านบาท  

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวหลังเป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ด้านมาตรฐานระหว่าง สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 8 หน่วยงาน  โดยระบุถึงความคืบหน้าร่างแก้ไขพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  (มอก.) ว่า  ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเตรียมเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า  และจะเป็นกรอบกฎหมายกลาง และแม่แบบงานมาตรฐานของชาติ  สร้างระบบงานด้านมาตรฐาน ให้คล่องตัว สอดคล้องกับแนวทางสากล

สำหรับ 8 หน่วยงานที่ร่วมลงนามเอ็มโอยู กับ สมอ. ประกอบด้วยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  กรมโรงงานอุตสาหกรรม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการทดสอบโดยไม่ทำลายแห่งประเทศไทย สมาคมอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน  สมาคมผู้ผลิตหม้อน้ำและภาชนะรับแรงดันไทย และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่ง สมอ.จะให้การสนับสนุนระบบงานด้านมาตรฐานที่เป็นแนวทางสากลให้กับหน่วยงานเหล่านี้ต่อไป

นายไพโรจน์  สัญญะเดชากุล เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะตอบสนองความต้องการด้านมาตรฐานในด้านอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น เป็นไปตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านมาตรฐานที่เน้นกระจายงานมาตรฐานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ 

ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความร่วมมือที่ สมอ. ทำกับกระทรวงพลังงาน คือการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพขั้นต่ำของเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง วัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และมาตรฐานรถยนต์ประหยัดพลังงาน รวมถึงการออกกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานเรื่องเหล่านี้ อย่างน้อย 34 วัสดุอุปกรณ์ ภายในปี 2554 อันจะทำให้ประชาชนเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 2,000 จิกะวัตต์ชั่วโมง หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้าขนาดประมาณ 240 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 9,200 ล้านบาท  ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.4 ล้านตัน โครงการนี้ยังรวมถึงดำเนินการวิจัยกำหนดมาตรฐานการประหยัดพลังงานในรถยนต์และการติดฉลากรถยนต์ประหยัดพลังงาน การติดฉลากรถยนต์ระหว่างปี 2551-2554 คาดว่าจะประหยัดพลังงานได้ประมาณ  140 กิโลตันน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นมูลค่า 2,500 ล้านบาทด้วย.