ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน กำลังปะทุขึ้น กรณีปัญหานิวเคลียร์ที่ยังไม่ลงรอยกัน ชี้หากมีการสู้รบเกิดขึ้น กระทบต่อราคาน้ำมันที่ต้องขึ้นราคาบวกกับเศรษฐกิจโลกส่อแววทรุดลงอีกแน่นอน
โบรกเกอร์ระบุทุกฝ่ายกำลังจับตาความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน กรณีปัญหานิวเคลียร์ เพราะหากมีการสู้รบเกิดขึ้น อาจทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และกระทบต่อเศรษกิจโลก-ตลาดหุ้นไทย เชื่อ กนง. มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก เพื่อลดแรงจูงใจเงินทุนที่จะเข้ามาหาส่วนต่างดอกเบี้ยในและต่างประเทศ |
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน กรณีปัญหานิวเคลียร์ที่รุนแรงต่อเนื่อง หากเกิดการสู้รบขึ้นระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย จะกระทบต่อปัญหาการผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง เพราะอิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งย่อมกระทบต่อราคาน้ำมันและตลาดหุ้น รวมถึงหุ้นในกลุ่มพลังงานของไทยด้วย และหากราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้น ก็ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยอีก ส่วนกรณีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ยังมีช่องว่างในการลดดอกเบี้ยได้อีก และ ธปท. น่าจะพยายามทำให้ต่างชาติลดความสนใจในการหาผลตอบแทนจากค่าเงินบาท ซึ่งจะทำให้เงินทุนที่เก็งกำไรไหลเข้าประเทศน้อยลง ซึ่งจะลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท |
ด้านนายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีนิตี้ โพลาริส ฟิวเจอร์ จำกัด กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงราคาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้นักลงทุนกำลังจับตาท่าทีของประเทศต่าง ๆ และแม้ว่าบางครั้งสหรัฐจะไม่เข้าโจมตีเอง แต่ก็อาจใช้ประเทศอื่นเป็นเครื่องมือ ซึ่งจะเกิดผลในระยะยาว นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณจากการที่สหรัฐและจีนได้เพิ่มกำลังสำรองน้ำมันสูงขึ้นมาก ขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้ใช้ จะต้องเร่งปรับตัวรองรับสถานการณ์ดังกล่าว |
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นสงครามทางจิตวิทยา ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจสูงถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จึงอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และอาจทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย. |