เนื้อหาวันที่ : 2010-12-02 11:07:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2098 views

รายงานเผยไทยปรับปรุงคุณภาพรถผลิตใหม่ดีขึ้น

เจ.ดี.พาวเวอร์ เผยคุณภาพรถยนต์ผลิตใหม่โดยรวมในประเทศไทยได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นจากปี 2552 ด้วยปัญหาที่ลดลงในทุกหมวดหมู่และลดลงเด่นชัดที่สุดคือ ปัญหาภายนอกรถยนต์


เจ.ดี.พาวเวอร์ เผยคุณภาพรถยนต์ผลิตใหม่โดยรวมในประเทศไทยได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นจากปี 2552 ด้วยปัญหาที่ลดลงในทุกหมวดหมู่และลดลงเด่นชัดที่สุดคือ ปัญหาภายนอกรถยนต์


เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิค รายงาน คุณภาพรถยนต์ผลิตใหม่โดยรวมในประเทศไทยมีการปรับปรุงดีขึ้นจากปี 2552 โตโยต้าและฮอนด้าคว้าสองรางวัลด้านคุณภาพรถยนต์ใหม่ ขณะที่นิสสันและมาสด้าได้รับค่ายละหนึ่งรางวัล


เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิค เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ ประจำปี 2553 (Initial Quality Study –IQS) ในวันนี้ พบว่า คุณภาพรถยนต์ผลิตใหม่โดยรวมในประเทศไทยได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นจากปี 2552 ด้วยปัญหาที่ลดลงในทุกหมวดหมู่และลดลงเด่นชัดที่สุดคือ ปัญหาภายนอกรถยนต์


การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่ลูกค้าได้ประสบในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ การศึกษานี้ได้ตรวจสอบถึงปัญหาหรือความผิดปกติมากกว่า 200 รายการ และสามารถจัดกลุ่มปัญหาหรือความผิดปกติที่พบได้เป็น 8 หมวดหมู่ โดยเรียงตามลำดับของจำนวนปัญหาที่พบ


ปัญหาด้านแรกได้แก่ ปัญหาด้านภายนอกรถยนต์ ตามด้วยปัญหาจากประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ ปัญหาด้านเครื่องยนต์และระบบเกียร์ ปัญหาจากระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศและระบบแอร์ (HVAC) ปัญหาจากอุปกรณ์ ปุ่มควบคุม และแผงหน้าปัด


ปัญหาด้านเครื่องเสียง ความบันเทิงและระบบนำทาง ปัญหาจากภายในรถยนต์ และด้านสุดท้าย ปัญหาจากที่นั่ง ในการวัดผลด้านคุณภาพ ผลการศึกษานี้ได้คำนวณจากจำนวนปัญหาหรือความผิดปกติที่พบจากรถยนต์ใหม่ทุก 100 คัน (ในที่นี้ เรียกว่า PP100) ถ้ารถยนต์รุ่นใดได้คะแนนน้อย หมายความว่ารถยนต์รุ่นนั้นมีคุณภาพสูง


ในปี 2553 ค่าเฉลี่ยคุณภาพรถใหม่โดยรวมอยู่ที่ 106 ต่อรถยนต์ 100 คัน ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงคุณภาพที่พัฒนาขึ้นมา 27 คะแนน ต่อรถยนต์ 100 คัน จากปี 2552


“คุณภาพรถใหม่ในประเทศไทยได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ได้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการวิจัยและการผลิต” โลอิค เปอ็อง ผู้จัดการอาวุโสของ เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิค ประจำประเทศไทย กล่าว “ขณะที่การพัฒนาคุณภาพรถยนต์อย่างต่อเนื่องมีส่วนอย่างมากในการสร้างเสริมความมั่นใจให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์


แต่ในทัศนะของผู้บริโภคนั้น ปัญหาหลักๆของคุณภาพรถยนต์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากหลายปีก่อนหน้า ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องเสียงลมดังเกินไปในห้องโดยสารยังคงเป็นปัญหากวนใจที่สุดสำหรับเจ้าของรถยนต์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ประเภทไหนก็ตาม


นอกจากเรื่องเสียงลมดังเกินไปในห้องโดยสารแล้ว กลิ่นเหม็นอับจากช่องลม และปัญหาประตูหน้าที่เปิดปิดยาก ยังคงเป็นปัญหาหลัก 3 ประการที่มีการรายงานเข้ามาบ่อยที่สุดจากเจ้าของรถยนต์


ผลการศึกษารุ่นรถในแต่ละส่วนตลาดรถยนต์
ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น พบว่าฮอนด้า ซิตี้ ครองอันดับหนึ่งด้วย 99 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน ตามมาด้วย โตโยต้า ยาริส (106 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) และ นิสสัน ทีด้า (114 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน)


มาสด้า 3 (89 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ตามติดมาด้วย ฮอนด้า ซีวิค (110 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) และ โตโยต้า โคโรล่า อัลติส (122 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน)


นิสสัน เทียน่า ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับพรีเมียมด้วยคะแนน 72 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน ที่สองเป็นของ โตโยต้า แคมรี่ และแคมรี่ ไฮบริด ด้วยคะแนนเสมอกัน 79 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน


ในกลุ่มรถยนต์ SUV ฮอนด้า ซีอาร์-วี ได้รับคะแนนสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ด้วยคะแนน 61 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน ตามมาด้วย เชฟโรเล็ท แค็บติวา (92 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) และ อีซูซุ มิว-7 (98 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน)


ในส่วนของรถกระบะมีแค็บ โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ ได้รับคะแนนสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ด้วยคะแนน 88 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน ตามติดมาด้วย อีซูซุ ดี-แม็กซ์ ไฮแลนเดอร์ (89 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) อีซูซุ ดี-แม็กซ์ สเปซแค็บ/โรดีโอ ครองอันดับสามด้วยคะแนน 95 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน


ในส่วนของรถกระบะ 4 ประตู โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ครองอันดับสูงสุด (81 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน) ส่วน มิตซูบิชิ ไทรตัน พลัส ครองอันดับ 2 ด้วยคะแนน 91 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน ปิดท้ายอันดับ 3 ด้วยอีซูซุ ดี-แม็กซ์ ไฮแลนเดอร์ (113 คะแนนต่อรถยนต์ 100 คัน)


ผลการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับตลาดรถยนต์
จากการศึกษาพบว่า เจ้าของรถยนต์ซึ่งกล่าวว่า “พอใจ” หรือ “พอใจมาก” (โดยการให้คะแนน 8 จาก 10 ในช่วงคะแนน 1 ถึง 10 คะแนน) กับคุณภาพรถยนต์โดยรวมมีความตั้งใจที่จะใช้รถนานกว่าเจ้าของรถยนต์ที่ตอบว่า “เฉยๆ” หรือ “ผิดหวัง” (โดยการให้คะแนน 1 ถึง 7 ในช่วงคะแนน 1 ถึง 10 คะแนน) ประมาณ 1 ปีโดยเฉลี่ย


และในทำนองเดียวกัน เจ้าของรถยนต์ที่กล่าวว่า “พอใจ” หรือ “พอใจมาก” กับคุณภาพรถยนต์ บอกว่าพวกเขาจะกลับมาซื้อรถยนต์ยี่ห้อเดิมอีก “อย่างแน่นอน” มีจำนวนมากกว่าเจ้าของรถยนต์ที่รู้สึก “เฉยๆ” หรือ “ผิดหวัง” ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์


“คุณภาพรถยนต์ใหม่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อเจ้าของรถยนต์ในการสร้างมุมมองต่อยี่ห้อรถที่ตนใช้อยู่และอาจส่งผลกระทบอย่างถาวรต่อความภักดีในยี่ห้อรถ” เปอ็อง กล่าว “ เจ้าของรถยนต์ที่มีประสบการณ์เริ่มแรกที่พึงพอใจกับรถยนต์ใหม่ของตนไม่เพียงแต่จะเก็บรถยนต์ไว้ใช้นานกว่า ซึ่งอาจเป็นโอกาสในการช่วยสร้างรายได้ให้แก่ศูนย์บริการ แต่ยังมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะซื้อยี่ห้อเดิมในอนาคตเพื่อมาแทนคันเก่า


การศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทยประจำปี 2553 จัดทำขึ้นโดยประเมินผลจากเจ้าของรถยนต์ใหม่จำนวน 3,664 ราย ที่ซื้อรถยนต์ระหว่างเดือน ตุลาคม 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2553 โดยทำการศึกษาจากผู้ซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวนทั้งสิ้น 61 รุ่น จากรถยนต์ 12 ยี่ห้อ การศึกษานี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนสิงหาคม 2553