1. ก.คลังจับมือคมนาคมนำร่อง PPPs รถไฟความเร็วสูง 2 สาย
- สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การจัดงานทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน(Market Sounding) โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ประกอบด้วยเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 754 กิโลเมตร และ เส้นทางกรุงเทพฯ – ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในโครงการภาครัฐในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs) อย่างจริงจัง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มบทบาทให้กับภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการให้บริการสาธารณะร่วมกับรัฐบาล (Infrastructure Fund, Public Private Partnership: PPP) จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาประเทศในทางเลือกการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นการขยายการเข้าถึงบริการของรัฐกับภาคประชาชน และจะเป็นการลดข้อจำกัดด้านงบประมาณลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 มีการระดมทุนผ่านรูปแบบ PPPs คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของงบลงทุนจำนวน 1,302.8 พันล้านบาท ซึ่งนับว่ายังน้อยหากเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษที่ใช้ประโยชน์จาก PPPs มากที่สุด โดยมีสัดสวนการลงทุนสูงถึงร้อยละ 32.6 ต่อวงเงินลงทุนรวม
2. ธปท.เผยปัญหาอุทกภัยกระทบ GDP ร้อยละ 0.2 ต่อปี
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 53 ที่ ร้อยละ 0.2 หรือคิดเป็นมูลค่า 20.0 พันล้านบาท โดยทั้งปี คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ตามกรอบที่ร้อยละ 7.3-8.0 ต่อปี โดยมีแรงส่งจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศ เช่น การเพิ่มขึ้นของรายได้ภาคการเกษตร การจ้างงาน และการใช้จ่ายของภาครัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์วิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้ GDP ลดลงจากที่ประมาณการเดิมร้อยละ -0.19 ถึง -0.29 ต่อปี หรือสูญเสียเม็ดเงิน 14.9 – 37.3 พันล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่ภาคการเกษตร อย่างไรก็ตาม ทั้งปี 53 สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงคาดกาณ์ที่ร้อยละ 7.3- 7.8 ต่อปี โดยได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ
ในขณะที่ ในปี 54 คาดว่าจะขยายตัวรัอยละ 4.5 ต่อปี โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนภายในภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาท ทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม สศค.จะมีการแถลงข่าวปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย อีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค. 53
3. GDP อินเดียในไตรมาสที่ 2 ของปี งปม. 54 ขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี
- สำนักข่าว Reuters รายงานว่า GDP อินเดียในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี และภาคเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจอินเดียที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องทั้งในไตรมาสที่ 1 และ 2 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอินเดีย โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดกว่าร้อยละ 20.0 ของ GDP ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ ภาคการเกษตรขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเป็นผลมาจากมีปริมาณฝนมากเพียงพอสำหรับการเพราะปลูก อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับสูงจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตและจะสร้างแรงกดดันต่อการวางแผนนโยบายด้านการเงิน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนตุลาคม 53 อยู่ที่ร้อยละ 8.6 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียในปี 2553 และ 2554 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 8.5 และ 8.3 ต่อปี ตามลำดับ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง