เนื้อหาวันที่ : 2010-11-29 10:58:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 681 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 29 พ.ย. 2553

1. ไตรมาส 3 อสังหาฯ หด 42%

-  นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑล ในไตรมาส 3 ปี 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.7 หมื่นหน่วย ลดลง 42% จากไตรมาส 2 และลดลง 36% เทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน


เนื่องจากผู้ซื้อได้ เร่งโอนกรรมสิทธิ์กันไปในช่วงก่อนมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมหมดอายุลงเมื่อสิ้นไตรมาส 2 โดยที่อยู่อาศัยที่โอนกรรมสิทธิ์เป็นอาคารชุดมากที่สุด 9350 หน่วย คิดเป็น 35% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมด ลดลง 49% จากไตรมาสก่อน และลดลง 37% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน


-  สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่ใช้ในการพิจารณาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญ คือ ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาส 3 ปี 53 อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 58.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 81.5 ต่อปี จากการเร่งโอนในช่วงก่อนหมดมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน


อย่างไรก็ตาม ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3 ยังคงขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับการลงทุนในภาคการก่อสร้างของเอกชนที่ขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ร้อยละ 12.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.8 ต่อปี ในไตรมาสก่อน ทั้งนี้ ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดในเดือนต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 53.8 ต่อปี ชี้ให้เห็นว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง


2. คาดปี 54 ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปี

-  นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย เปิดเผยถึง แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในปี 2554 ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่ว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ  10.0 ต่อปี  จากปี 2553 ซึ่งเป็นผลจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัญหาสภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง ราคาน้ำมันดิบโลกปรับสูงขึ้น และการนำพืชไปใช้ผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้น


-  สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาสินค้าเกษตรในปี 2554 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามที่หอการค้าไทยได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยได้รับปัจจัยบวกทั้งปัจจัยพื้นฐานที่อุปสงค์ของโลกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปทานของสินค้าเกษตรในตลาดโลกรวมถึงไทย ได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง


ประกอบกับปัจจัยด้านการเก็งกำไร เนื่องจากสินค้าเกษตรส่วนหนึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ทั้งนี้ จากตัวเลขล่าสุด ในช่วง 10 เดือนแรกปี 53 ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ยังขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 25.9 ต่อปี  


3. สหภาพยุโรป (EU) หารือรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน 

-  รัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรป (EU) ประชุมเพื่อหารือถึงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 8.5 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ที่จะให้แก่ไอร์แลนด์ เพื่อกู้วิกฤติหนี้สาธารณะที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มจะขยายไปทั่วทวีปยุโรป


โดยสถานีโทรทัศน์ RTE ของรัฐบาลไอร์แลนด์รายงานว่า อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่ EU และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะให้กับไอร์แลนด์อาจสูงถึงร้อยละ 6.7 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากเงินช่วยเหลือที่ให้แก่รัฐบาลกรีซ และจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มที่สูงมากนี้


ทำให้ชาวไอร์แลนด์ไม่พอใจและรวมตัวกันประท้วงการของรับความช่วยเหลือจาก EU และ IMF รวมถึงคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดงบประมาณของรัฐบาลซึ่งมีมาตราการลดสวัสดิการสังคมรวมอยู่ด้วย ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวไอร์แลนด์พบว่า ร้อยละ 57  สนับสนุนให้เลื่อนการชำระหนี้สาธารณะของประเทศ


-  สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาหนี้สาธารณะในไอร์แลนด์คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจยุโรปโดยรวมชะลอการฟื้นตัวต่อไปอีก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยในฐานะประเทศคู่ค้าได้ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่เงินทุนจากยุโรปหรือเงินทุนที่เคยลงทุนในยุโรปจะมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่เอเชียมากขึ้นรวมถึงเข้าสู่ตลาดทุนไทยด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมการรับมือให้ทันท่วงที มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้


ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง