GDP ไทยในไตรมาส 3 ปี 53 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) แต่หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะหดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ผลหลักจากการขยายตัวของส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิในไตรมาสนี้มีการขยายตัวชะลอลง จากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้า ขณะที่เมื่อพิจารณาด้านอุปทานพบว่าภาคเกษตรหดตัวถึงร้อยละ -3.3 ต่อปี ในขณะที่ภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวดีที่ร้อยละ 11.5 และ 10.1 ต่อปี ตามลำดับ
อัตราการว่างงานข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือน ก.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานจำนวนทั้งสิ้น 3.4 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานในภาคบริการ 9.0 หมื่นคน ภาคอุตสาหกรรม 1.1 แสนคน ภาคการเกษตร 2.1 หมื่นคน และผู้ที่กำลังหางานจำนวน 1.3 แสนคน
ส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 3.5 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เก็บข้อมูลมา สะท้อนถึงภาวะแรงงานของไทยที่ส่งสัญญาณตึงตัวอย่างชัดเจน
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 53 หดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และข้าว เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคกลาง และภาคอีสาน ที่พื้นที่นาข้าวและมันสำปะหลังได้รับความเสียหายมาก
ในขณะที่ผลผลิตยางพาราขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยางเท่าใดนัก ในขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี จากผลผลิตสุกร และไก่เนื้อเป็นสำคัญ ตามราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 53 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ร้อยละ 29.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.7 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ในขณะที่ราคาข้าวหดตัวในอัตราชะลอลงมากเช่นกัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่อุปทานของสินค้าเกษตรในตลาดโลกรวมถึงไทย ได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 53 ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ยังขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 25.9 ต่อปี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 21.0 ต่อปี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง