เนื้อหาวันที่ : 2006-04-03 16:59:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2262 views

สวทช. จับมือสถาบันไทย-เยอรมัน พัฒนาเทคโนโลยี SMEsภาคตะวันออก

เร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกให้มีศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะเอสเอ็มอี

 

สถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมเป็นเครือข่ายโครงการ ITAP (สวทช.) แห่งที่ 7 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกให้มีศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะ SMEs ที่มีขีดความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีจำกัด  พร้อมเตรียมลงสำรวจภาคอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล  เพื่อจัดทำศูนย์สารสนเทศป้อนนักลงทุนต่างชาติและภาครัฐในการสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต  หวังลดการเสียเปรียบทางการค้า ที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศในแต่ละปีหลายแสนล้านบาท

 

ตามที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินการขยายเครือข่ายโครงการ ITAP ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด  โดยมีเครือข่าย ITAP ในภูมิภาคแล้ว 6 แห่ง ได้แก่  เครือข่ายภาคเหนือ ดำเนินงานโดย สวทช.ภาคเหนือ , เครือข่ายภาคใต้ตอนบน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์( มวล.) , เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) , เครือข่ายภาคตะวันตก ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) , เครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น( มข.)  และเพื่อให้โครงการ ITAP เป็นโครงการระดับประเทศที่ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างแท้จริง

 

ล่าสุด ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สวทช. กับ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) ในการจัดตั้งเครือข่ายโครงการ ITAP แห่งที่ 7 ขึ้นในภาคตะวันออก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ระหว่าง รศ.ดร. สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีและผู้อำนวยการโครงการ ITAP  และ รศ. ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI)  โดยมี รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เป็นประธานในพิธีลงนามฯ ครั้งนี้ 

 

โดย รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า  พิธีลงนามฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันจัดตั้งหน่วยงานเครือข่าย ITAP สำหรับให้บริการพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีการผลิต และการจัดการเชิงลึกแบบครบวงจรแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี , จันทบุรี , ระยอง  และตราด  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า  ซึ่งเครือข่าย ITAP โดยการดำเนินงานของสถาบันไทย-เยอรมันนี้ นับเป็นเครือข่ายแห่งที่ 7 จัดตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี  ถือเป็นการเสริมสร้างให้โครงการ ITAP มีเครือข่ายทั่วประเทศทุกภูมิภาคได้อย่างแท้จริงในอันที่จะให้บริการในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพการผลิตและส่งเสริมให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น อีกทั้งจะเป็นพลังส่งเสริมขีดความสามารถของภาคเอกชนในพื้นที่ตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

 

สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการ ITAP ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการติดต่อกับภาคเอกชนมากกว่า 4,500 บริษัท  โดยมีการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นให้แก่ภาคเอกชนแล้วกว่า 1,500 บริษัท และสามารถพัฒนาให้วิสาหกิจมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีการผลิตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 800 บริษัท 

 
ด้าน รศ. ณรงค์ วรงค์เกรียงไกร   ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) กล่าวว่า  การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ จะทำให้การทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานมีความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ TGI ยังมีแผนที่จะเข้าไปจัดตั้งศูนย์ฯ ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ( Sicence Park ) ในอนาคต จึงนับเป็นโอกาสดีที่ TGI ได้มาร่วมมือกับ ITAP (สวทช.) ในครั้งนี้
 

สถาบันไทย-เยอรมัน ก่อตั้งขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว มีบทบาทในการช่วยเหลือ ฝึกอบรม และให้คำปรึกษาในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคตะวันออก และจากการที่สถาบันไทย-เยอรมัน มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านแม่พิมพ์ , เทคโนโลยีการผลิตและระบบอัตโนมัติกว่า 100 คน จึงมีความพร้อมที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกในฐานะเป็นเครือข่าย ITAP แห่งที่ 7 รศ.ณรงค์ กล่าว

 

สำหรับปัญหาของอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น รศ.ณรงค์ กล่าวว่า  อุตสาหกรรมที่เข้าไปจัดตั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกค่อนข้างมีความหลากหลาย  และส่วนใหญ่เป็นบริษัทลงทุนจากต่างชาติ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมทางด้านปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้ขยายฐานการผลิตเข้ามาเพิ่มมากขึ้น  และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น    ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยแต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบริษัทลงทุนจากต่างชาติจึงมักไม่มีปัญหาดังกล่าว   แต่ที่ประสบปัญหามากที่สุดจะเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เป็นของคนไทย  (SMEs) เนื่องจากขีดความสามารถจำกัดและขาดศักยภาพในการเข้าถึงเทคโนโลยี และปัญหาการลงทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ทำให้ต้องซื้อเครื่องจักรเก่า ดังนั้น จึงต้องเร่งให้การพัฒนาแก่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ดี  ขณะนี้สถาบันไทย-เยอรมัน มีแผนที่จะจัดทำศูนย์สารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกันยังจะเป็นข้อมูลเตือนภัยสำหรับทางภาครัฐในการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการด้วย โดยการสำรวจในเชิงลึก อาทิ จำนวนของกลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ทั้งประเทศ, บุคลากร, ผู้เชี่ยวชาญ และระดับเทคโนโลยีที่ใช้ รวมถึงปริมาณของเครื่องจักรที่ใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยต่อไป

 
นอกจากนี้สถาบันไทย-เยอรมัน ยังมีแผนที่จะขยายการสำรวจออกไปในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ซึ่งเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ประเทศไทยยังมีปัญหา เนื่องจากในแต่ละปีประเทศไทยต้องนำเข้าเครื่องจักรกลจากต่างประเทศเข้ามากว่า ปีละ 2 แสนล้านบาท  ขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยทั้งภาคการเกษตร หรือ การแปรรูปอาหาร จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรในการผลิต แต่กลับไม่มีอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลรองรับ ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบและขาดดุลการค้า 
 

รศ.ณรงค์ กล่าวเพิ่มในตอนท้ายว่า เราจึงจำเป็นต้องหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรของประเทศเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตของเราเอง โดยจะต้องมีการสำรวจถึงอุตสาหกรรมเครื่องจักรประเภทที่เรามีศักยภาพ เพื่อไม่ต้องไปแข่งขันกับประเทศอื่นที่เขามีผลิตอยู่ จึงเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานครั้งนี้ จะมีส่วนในการผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เข้มแข็ง ซึ่งจะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชากรในประเทศต่อไป