เนื้อหาวันที่ : 2010-11-26 11:26:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 686 views

ประสานมือสร้างไทย ให้เป็นเมืองแห่งพลังงานทดแทน

สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราล้วนสามารถช่วยแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานของชาติได้ หากเราได้ให้ความใส่ใจถึงที่มาที่ไปของแหล่งพลังงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน พลังจากแสงอาทิตย์ สายลม มูลสัตว์ อ้อย หรือแม้แต่น้ำมันปาล์ม ที่มีอยู่มากมายในบ้านเรา ต่างสามารถนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนซึ่งจะไม่มีวันหมดไป ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ


แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนคงไม่ใช่เพียงการขวนขวายหาวิธีการผลิต แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมไทย


ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนของคนไทย
จากการวิจัยของสวนดุสิตโพลด้านพลังงานทดแทน เมื่อเดือนธันวาคม 2552 พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความเข้าใจในเรื่องพลังงานทดแทนเพียงผิวเผิน โดยเข้าใจแต่เพียงว่าเป็นแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ที่มาทดแทนแหล่งพลังงานหลัก


บ้างก็รับรู้จากพาดหัวข่าวตามสื่อต่างๆ บ้างก็เห็นจากภาพยนตร์โฆษณาซึ่งมุ่งขายผลิตภัณฑ์เป็นหลัก และเมื่อเจาะลึกลงไป ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่รู้จักพลังงานทดแทนเพียงแค่ 2-3 ประเภท เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำมันก๊าซโซฮอล์ และไบโอดีเซล เป็นต้น


ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานทดแทนได้ แต่มีศักยภาพน้อย ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ กล่าวได้ว่า คนไทยหันมาสนใจเรื่องพลังงาน เพราะได้รับผลกระทบด้านราคาเป็นหลัก จากค่าใช้จ่ายน้ำมันรถ ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นในแต่ละเดือน แต่การให้ความสำคัญด้านพลังงานทดแทนยังมีน้อยอยู่


ความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
ภาพยนตร์โฆษณา เมืองไทย เมืองแห่งพลังงานทดแทน ชุด “ร่วมมือ” จัดทำโดย กระทรวงพลังงาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อสื่อให้เห็นว่าพลังงานทดแทนไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกฝ่าย ทุกระดับ ตั้งแต่แม่ค้าขายปาท่องโก๋ที่นำน้ำมันไปขายทำไบโอดีเซล เจ้าของโรงสีข้าวที่นำแกลบมาอัดแท่งเป็นถ่าน หรือเกษตรกรฟาร์มหมูที่นำขี้หมูไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพ


ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนทั้งสิ้น ฉะนั้น หากทุกคนทุกฝ่าย ตั้งแต่เกษตรกร นักวิชาการ นักธุรกิจ รัฐบาล ไปจนถึงประชาชนทั่วไป เข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่โยงใยเป็นห่วงโซ่อันนี้ ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน อนาคตอันแข็งแรงของพลังงานไทยก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินเอื้อม