ตั้งสมาคมอาเซียน ไวนิล เคาน์ซิล ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและรับผิดชอบ มุ่งเน้นสร้างมาตรฐานการปฏิบัติและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไวนิลจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการลงนามในกฎบัตร เพื่อก่อตั้งสมาคมอาเซียน ไวนิล เคาน์ซิล (ASEAN Vinyl Council) หรือเอวีซี (AVC)
สมาคมที่ตั้งขึ้นใหม่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งภูมิภาค โดยมีหน้าที่กำกับดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ที่ใช้ควบคุมและที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ของอุตสาหกรรมนี้
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญและจะมีการควบคุมให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรมสากล รวมทั้งสอดคล้องกับกรอบเวลาที่กำหนดโดยที่ประชุมสามัญของเอวีซี (AVC General Meeting)
นอกจากนี้สมาคมดังกล่าวยังมีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาด้านต่างๆในอนาคต ทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านเทคโนโลยีใหม่ๆด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสาธารณะชนทั่วไป
มร. กุนเธอร์ วิลแฮล์ม นาโดนี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) และเป็นประธานสมาคมอาเซียน ไวนิล เคาน์ซิลคนแรก ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรใหม่นี้ว่า “ขณะที่อุตสาหกรรมไวนิลในภูมิภาคขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นทั่วโลก ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัย ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ
ผู้ผลิตไวนิลในอาเซียนและพันธมิตรธุรกิจต่างพยายามปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง แม้จะประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา สมาชิกยังเชื่อว่าการปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกในหลายๆ ด้านจะต้องมีการพูดคุยกัน โดยควรกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมตามสมควรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
นายนำศักดิ์ ชุณหจุฑา ผู้จัดการทั่วไป สมาคมอาเซียน ไวนิล เคาน์ซิล กล่าวว่า “กฎบัตรดังกล่าวครอบคลุมกระบวนการผลิต โลจิสติกส์ และรีไซเคิลทั้งหมดของกระบวนการผลิตไวนิล คือ EDC, VCM และ PVC นอกจากนี้ยังมีหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้แน่ใจว่ามีการตรวจวัด ติดตาม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เราเชื่อว่าความพยายามและการร่วมแรงร่วมใจกันของสมาชิกจะนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น พร้อมเป็นย่างก้าวสำคัญสำหรับการสร้างความยั่งยืน” นายนำศักดิ์ กล่าว
กฏบัตรเอวีซี (AVC Charter) ได้รับความเห็นชอบและลงนามโดยบริษัทชั้นนำ 12 บริษัท ได้แก่ Standard Toyo Polymer (อินโดนีเซีย), Sulfindo Adiusaha (อินโดนีเซีย), TPC Indo Plastic and Chemicals (อินโดนีเซีย), Industrial Resins (มาเลเซีย), Malayan Electro-Chemical Industry (มาเลเซีย),
Vinyl Cholride (M) Sdn. Bhd. (มาเลเซีย), Philippine Resins Industries, Inc (ฟิลิปปินส์), APEX Petrochemical (ไทย), VINYTHAI (ไทย), Thai Plastic and Chemicals (ไทย), Phu My Plastics and Chemicals (เวียดนาม) และ TPC Vina Plastic and Chemical (เวียดนาม)
ตลาดผลิตภัณฑ์ไวนิลที่กำลังเติบโตในอาเซียนขณะนี้มาจากอุตสาหกรรมไวนิล 3 ชนิดหลัก ได้แก่ EDC (Ethylene Dichloride), VCM (Vinyl Chloride Monomer) และ PVC (Polyvinyl Chloride) โดยเฉพาะ PVC เป็นพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะประหยัดต้นทุน ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ปลอดภัย สามารถนำมารีไซเคิลได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ภายในอาเซียนกำลังการผลิตเอธิลีนไดคลอไรด์ หรือ EDC อยู่ที่ 2,590,000 เมตริกตันต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์ มอนอเมอร์ หรือ VCM และ PVC อยู่ที่ 1,800,000 และ 2,116,000 เมตริกตันต่อปีตามลำดับ