สมาคมน้ำตาลทราย เผยโรงงานน้ำตาลจะเริ่มทยอยเปิดหีบอ้อย 27 พ.ย. นี้ เชื่อสถานการณ์น้ำตาลตึงตัวจะคลี่คลาย เตรียมจัดสรรโควตา ก. แล้ว 25 ล้านกระสอบ
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย
สมาคมน้ำตาลทราย เผยโรงงานน้ำตาลจะเริ่มทยอยเปิดหีบอ้อย 27 พ.ย. นี้ เชื่อสถานการณ์น้ำตาลตึงตัวจะคลี่คลาย เตรียมจัดสรรโควตา ก. แล้ว 25 ล้านกระสอบ
ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเชื่อสถานการณ์น้ำตาลทรายตึงตัวจะคลี่คลาย หลังเปิดหีบอ้อย ตั้งแต่ 27 พ.ย. - 13 ธ.ค. นี้ ป้อนน้ำตาลเข้าสู่ระบบลอตแรกสัปดาห์หน้า มั่นใจจำนวนจัดสรรโควตา ก. 25 ล้านกระสอบ เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศแน่ หากภาครัฐเข้มการตรวจสอบการลักลอบนำน้ำตาลออกไปขายต่างประเทศ และให้ผู้ใช้น้ำตาลที่ผลิตสินค้าส่งออก ใช้โควตา ค.
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมเปิดหีบอ้อยผลผลิตฤดูการผลิต ปี 2553/2554 แล้ว โดยโรงงานแรกจะเริ่มเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ และทยอยเปิดจนครบภายในวันที่ 13 ธ.ค. นี้
โดยประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2553/2554 ทั้งสิ้น 65.59 ล้านตันอ้อย คิดเป็นปริมาณน้ำตาลทรายจำนวน 69 ล้านกระสอบ ที่จะถูกนำไปจัดสรรขึ้นกระดาน โควตา ก. (จำหน่ายในประเทศ) ประมาณ 25 ล้านกระสอบ หรือสัปดาห์ละ 480,769 กระสอบ ที่เหลือส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
“ที่มีข่าวว่าช่วงนี้น้ำตาลทรายในตลาดตึงตัวนั้น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิต ซึ่งโดยปกติแล้วการขึ้นงวดน้ำตาลทรายโควตา ก. (ในประเทศ) จะมีน้อยลง เพราะส่วนใหญ่จะขึ้นงวดไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เมื่อโรงงานน้ำตาลทรายแห่งแรกเริ่มเปิดหีบอ้อยจากชาวไร่ในวันที่ 27 พ.ย. 2553 ก็จะมีน้ำตาลขึ้นงวดภายในต้นสัปดาห์หน้าจำนวนหนึ่ง และจะมีเพิ่มเต็มที่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2553 ผู้บริโภคจึงน่าจะคลายความกังวลได้ว่า จะมีน้ำตาลทรายใช้อย่างเพียงพอแน่นอน”
ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายในปีนี้ ที่จัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก. หรือน้ำตาลเพื่อไว้บริโภคภายในประเทศไว้ที่ 25 ล้านกระสอบ ถือว่า สูงมากเมื่อเทียบกับการจัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก. ในปีที่ผ่านๆ มา ที่มีการจัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก. 21 - 22 ล้านกระสอบ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายจึงเชื่อว่า จะสามารถรองรับกับความต้องการน้ำตาลทรายในปีนี้ได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากผู้ประกอบการ กรณีที่อาจทำให้น้ำตาลทรายโควตา ก. ขาดแคลนได้ก็คือ หากราคาน้ำตาลทรายในตลาดต่างประเทศยังคงสูงกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศมาก ก็จะทำให้มีการลักลอบนำน้ำตาลที่ใช้บริโภคภายในประเทศ ออกไปขายต่างประเทศ โดยผ่านทางตะเข็บชายแดน ซึ่งภาครัฐจะต้องบริหารจัดการปัญหานี้
นอกจากนี้ ภาครัฐต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้น้ำตาลของอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ว่า จะให้ใช้น้ำตาลทรายโควตา ก. ที่เป็นน้ำตาลที่บริโภคในประเทศ หรือ โควตา ค. ซึ่งเป็นราคาน้ำตาลเพื่อส่งออก เพราะขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้ความสนใจมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยเพื่อส่งออกกันมาก โดยอาศัยความได้เปรียบเรื่องราคาน้ำตาลในประเทศไทยที่ถูกกว่า
“หากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนใน 2 เรื่องนี้ ปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. ที่จัดสรรไว้ 25 ล้านกระสอบ อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศก็ได้” นายประกิต กล่าว