บีโอไอยกเครื่องใหญ่ เอื้อการลงทุนอุตสาหกรรมสุขภาพขยายประเภทกิจการ – เพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อยกระดับการแพทย์ไทย
บอร์ดบีโอไอ ยกเครื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมสุขภาพ โดยขยายประเภทกิจการที่ให้ส่งเสริม ให้ครอบคลุม โรงพยาบาล เวชศาสตร์การฟื้นฟู ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ และโลจิสติกส์เพื่อการรักษาพยาบาล รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน เพื่อยกระดับมาตรฐานของเทคโนโลยีการแพทย์ไทย
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้เห็นชอบให้บีโอไอปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสุขภาพ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพของประเทศอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม
โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การขยายขอบข่ายการส่งเสริมการลงทุนประเภท “กิจการโรงพยาบาล” ให้ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลมากขึ้น เป็น “กิจการ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล” โดยได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมประเภทกิจการ โรงพยาบาล จากเดิมกำหนดให้ต้องมีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนไม่น้อยกว่า 50 เตียง เป็นกำหนดให้ต้องมีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเกินกว่า 30 เตียงขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขเกณฑ์ขั้นต่ำของกระทรวงสาธารณสุข
และเห็นชอบให้เพิ่มประเภทส่งเสริม 4 กิจการ ได้แก่
1. กิจการเวชศาสตร์ฟื้นฟู เนื่องจากในปัจจุบันมีศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งเป็นการฟื้นฟูสมรรถนะของคนไข้ คนพิการ เสื่อมสมรรถภาพทางกายหรือทางจิตใจ ทั้งที่รับการรักษาโดยตรงและรับช่วงต่อการรักษาจากแผนกอื่น ที่ได้มาตรฐานค่อนข้างน้อย และมีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมการลงทุนในกิจการดังกล่าว
2. เพิ่มประเภทส่งเสริมการลงทุน ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์เฉพาะทางของภูมิภาค เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น
3. เพิ่มประเภทส่งเสริมการลงทุน ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อให้มีการ ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูงร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งนี้จะต้องเป็นการให้บริการเฉพาะทางและอุปกรณ์ตามที่คณะกรรมการกำหนด
และ 4. เพิ่มประเภทส่งเสริมการลงทุน กิจการโลจิสติกส์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดตั้งบริษัทกลางที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจะสามารถให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลต่างๆ ในลักษณะครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยกิจการทั้ง 5 ประเภท จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่ 5-8 ปี ตามเขตที่ตั้ง โดยมีวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ 100% ของมูลค่าเงินลงทุน รวมทั้งให้ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรตลอดอายุโครงการ เพื่อให้สอดรับกับการปรับเปลี่ยนเครื่องมืออุปกรณ์ให้ทันกับความก้าวหน้าทางวิทยาการอยู่เสมอ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของกิจการโรงพยาบาลเดิม เพื่อยกระดับมาตรฐานเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้วยการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้ในโรงพยาบาล โดยให้มาตรการนี้บังคับใช้กับโรงพยาบาลที่ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้รับส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม
สำหรับโครงการที่ได้รับส่งเสริมอยู่เดิมสามารถยื่นขอรับส่งเสริมภายใต้มาตรการนี้ได้เมื่อระยะเวลายกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้สิ้นสุดลงแล้ว หรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้จะต้องเสนอแผนการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อยกระดับมาตรฐานของเทคโนโลยีการแพทย์
เพื่อขอรับส่งเสริมการลงทุนภายใน 31 ธันวาคม 2555 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม โดยจะได้รับ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ทั้งนี้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ ช่วยอำนวยความสะดวก ในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมกิจการดังกล่าว เช่น แก้ไขปัญหาความไม่สะดวกในการนำคนไข้หนักจากต่างประเทศเข้าประเทศ ส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ เป็นต้น