อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยอียิปต์ และสหภาพยุโรปเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตรวจรับรองโรงงานชำแหละเนื้อไก่ในไทย ชี้เป็นโอกาสดีในการเพิ่มช่องทางการส่งออกของอุตสาหกรรมไก่ไทย
นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ทางประเทศอียิปต์ และสหภาพยุโรป (อียู)จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจรับรองโรงงานชำแหละเนื้อไก่ของไทยในช่วงต้นปี 2554 โดยเฉพาะอียิปต์นั้น มีความเชื่อมั่นในมาตรการควบคุมป้องกันโรคของไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยนำเข้าเนื้อไก่สดจากประเทศไทยมาก่อน จึงถือเป็นอีกตลาดที่สดใสของเนื้อไก่สดของไทย
เนื่องจากอียิปต์มีประชากรประมาณ 80 ล้านคน มีการบริโภคเนื้อไก่ประมาณ 8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณเนื้อไก่ที่บริโภคในประเทศรวม 640,000 ตันต่อปี พร้อมกันนี้ ทางกรมปศุสัตว์ยังได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสดของญี่ปุ่นด้วย
กรมฯได้รับแจ้งจากหน่วยงาน Food and Veterinary Officer (FVO) ของสหภาพยุโรป (EU) ว่าจะเดินทางมาประเทศไทย เพื่อตรวจประเมินพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสดแช่แข็งจากไทย (ปัจจุบัน EU ให้นำเข้าเฉพาะเนื้อสัตว์ปีกปรุงสุกจากไทย) รวมทั้งมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมป้องกันโรคสัตว์ที่สำคัญ (Animal Health) และตรวจประเมินด้านสวัสดิภาพสัตว์ปีก ณ โรงฆ่า (Animal Welfare Pre-Slaughter) ในระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2554 และ 28 มีนาคม – 1 เมษายน 2554 ตามลำดับ
การเข้าตรวจประเมินครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมไก่ไทยที่จะสามารถเพิ่มช่องทางการส่งออกเนื้อไก่-เป็ดสดแช่แข็งไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้ในอนาคต หลังจากที่ไม่สามารถส่งออกเนื้อสดแช่แข็งได้นับแต่ประสบปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในปี 2547 อย่างไรก็ดี กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เป็นไปตามหลักสากลมาตลอด
โดยการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทยที่เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่งขณะนี้ผ่านมาเกินกว่า 2 ปีแล้วที่ไม่มีการระบาดดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการบริโภคเนื้อสัตว์ปีก
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตลาดสหภาพยุโรปมีการบริหารและจัดสรรโควต้าการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากประเทศที่สาม ดังนั้น การแข่งขันเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากสหภาพยุโรปเปิดตลาดเนื้อไก่สดแช่แข็งให้ไทย เท่ากับเป็นการเปิดช่องทางการส่งออกให้กับอุตสาหกรรมไก่ไทยอีกทางหนึ่ง
ซึ่งการส่งออกเนื้อไก่ไทยก่อนการระบาดของไข้หวัดนกเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา ไทยเคยส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งไปตลาดยุโรป คิดเป็นสัดส่วนกว่า 25 % รองจากตลาดญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนกว่า 48 % ของการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งรวมทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ หากไทยสามารถเปิดตลาดเนื้อไก่สดแช่แข็งไปยังสหภาพยุโรปได้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเจรจาขอเปิดตลาดเนื้อไก่สดแช่แข็งไปยังญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของไข้หวัดนก การส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งของไทยมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2546 มีการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งไปยังตลาดสหภาพยุโรป (EU) รวม 98,231 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2545 กว่า 23 %
สำหรับการส่งออกเนื้อไก่ไทยในปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะส่งออกได้กว่า 4.2 แสนตัน มูลค่ากว่า 53,000 ล้านบาท และประมาณการว่าการส่งออกเนื้อไก่ไทยในปี 2554 จะเพิ่มมากขึ้นจากปี 2553 เช่นเดียวกัน