รัฐบาลขิงแก่ ถกวางกรอบการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานในอนาคต เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รัฐบาลประชุมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เป็นครั้งแรก โดยวางกรอบการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ ทั้งแผนแม่บท การสร้างประสิทธิภาพแห่งชาติ การเพิ่มประสิทธิภาพภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระยะเร่งด่วนปี 2550 การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานในอนาคต รวมทั้งกรอบพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ |
. |
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีและภาคเอกชน โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมหารือ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวช่วงต้นของการประชุมว่า การประชุมร่วมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้มีความสอดคล้องกันและมีทิศทางเดียวกัน สามารถบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าร่วมกัน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะรัฐบาลปัจจุบัน แต่ต้องใช้ต่อเนื่องไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า สิ่งนี้เป็นรากฐานที่รัฐบาลต่อไปจะได้นำไปพิจารณาประกอบ หากว่ามีการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้.องวางแนวทางไว้ตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน |
. |
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังประชุมว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า เป็นการผนึกกำลังให้เกิดความเข้มแข็งแก่ประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของการประชุม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แจ้งให้ทราบถึงผลิตภาพการผลิต การใช้ที่ดินและทุนของประเทศ ว่า ยังมีปัญหา ต้องเร่งให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งขันกับจีน ซึ่งมี 2 แผน ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดทำขึ้นมา คือ กรอบแผนแม่บทการสร้างประสิทธิภาพแห่งชาติ และแผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพภาคอุตสาหกรรม แผนแม่บททรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ และภาคเอกชนยังสนใจว่า โครงการนี้จะดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่ ทาง สศช.ชี้แจงว่า ได้บรรจุในแผนพัฒนาฯ อยู่แล้ว |
. |
นอกจากนี้ ยังมีวาระของการพิจารณาแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระยะเร่งด่วนปี 2550 ซึ่ง สศช.แจ้งว่า จำเป็นต้องปรับปรุง โดยได้ศึกษาหาทางพัฒนาอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ใช้งบประมาณมาก เช่น ใช้การขนส่งระบบราง และขนส่งทางน้ำมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมได้รับเรื่องไปพิจารณาแล้ว มีงบประมาณปี 2550 ใช้ดำเนินการจำนวน 4,550 ล้านบาท และมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติมาขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขณะเดียวกัน ยังมีการหารือถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานของประเทศในอนาคต โดย สศช.ได้รายงานเรื่องการเตรียมพื้นที่รองรับ ซึ่งพื้นที่ที่จะใช้จะต้องติดท่าเรือ โดยเดิม สศช.ได้ศึกษาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ไว้ และได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปแล้วบางส่วน เช่น ชายฝั่งอ่าวไทย ลงทุนจากจังหวัดชุมพรถึงนครศรีธรรมราช ส่วนอีกฝั่งทะเลภาคใต้ จะเป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า น่าจะต้องเตรียมพร้อม โดยขั้นตอนต่อไปมอบหมายให้ สศช.เป็นแกนนำพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมและแนวทางการพัฒนา โดยให้ประสานงานกับชุมชน และยึดหลักการให้อยู่ร่วมกันได้ |
. |
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า แผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระยะเร่งด่วนปี 2550 จะปรับโลจิสติกส์ในสินค้า 5 ประเภทก่อน ประกอบด้วย น้ำตาล ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และเหล็ก โดยมีงบประมาณดำเนินการ 4,550 ล้านบาท และวงเงินตลอดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ที่จะปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ จะใช้งบประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยพัฒนาจากการใช้รถสิบล้อมายังระบบราง และขนส่งทางน้ำให้มากขึ้น ซึ่งได้วางเป้าหมายลดต้นทุนลงได้คิดเป็นร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือ 480,000-500,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่จีดีพีจะมีขนาด 8.5 ล้านล้านบาท ส่วนผลผลิตแห่งชาติ ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 |
. |
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการรายงานเพื่อทราบ และผลการศึกษาเบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งจากการจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากบวกกับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล พื้นที่เหล่านี้ควรจะได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกันแค่ไหน อย่างไร จากที่ขณะนี้เท่ากันทั้งหมด ซึ่งภาคเอกชนจะรับเรื่องไปดูการให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมต่อไป. |