ทุกวันนี้เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเศรษฐกิจโลกนอกจากถูก ค้ำยันด้วยภาคเศรษฐกิจจริงแล้วอีกข้างหนึ่งเศรษฐกิจโลกยังต้องอาศัยภาคบริการที่มีอินเตอร์เน็ต เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนด้วย (ตอนจบ)
The 21st Century Economy
พลานุภาพทางเศรษฐกิจของ Internet Economy (ตอนจบ)
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ
เมื่อฉบับที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึง Internet Economy ที่เริ่มขยายตัวมาสู่การค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ช (E-commerce) โดยมี Amazon.com ของ เจฟฟรีย์ เบซอส (Jeffry Bezos) เป็นผู้บุกเบิกวงการธุรกิจค้าปลีกออนไลน์
ขณะที่เว็บท่าอย่าง Yahoo ของ เจอร์รี่ หยาง (Jerry Yang) และ เดวิด ไฟโล (David Filo) ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จบนโลกธุรกิจออนไลน์เช่นเดียวกันครับ โดยทั้งคู่สามารถขยายธุรกิจด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ ซึ่งนับได้ว่าธุรกิจดอตคอมเหล่านี้เตรียมพร้อมที่จะเป็น “ดาวรุ่ง” ตัวจริงในศตวรรษที่ 21 เลยก็ว่าได้
ทุกวันนี้เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้แล้วนะครับว่าเศรษฐกิจโลกนอกจากถูก “ค้ำยัน” ด้วยภาคเศรษฐกิจจริงอย่างภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ขาอีกข้างหนึ่งของเศรษฐกิจโลกยังต้องอาศัยภาคบริการที่มีอินเตอร์เน็ต เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนด้วย
โลกาภิวัตน์ (Globalization) ทำให้การค้าการลงทุนทั่วโลกเชื่อมโยงกันหมด ขณะที่อินเตอร์เน็ต คือ ช่องทางในการสื่อสารที่ทำให้ผู้ผลิต ผู้บริโภค นักลงทุน รวมทั้งรัฐบาลสามารถติดต่อกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งมีผลทำให้ประหยัดต้นทุนทางธุรกรรม (Transaction Cost) ในการติดต่อสื่อสาร
สำหรับซีรีส์ตอนนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึง Search Engine ซึ่งเป็นอีกผลิตภัณฑ์หลักที่ก่อร่างสร้าง Internet Economy ให้เจริญเติบโตมาได้จนทุกวันนี้และแน่นอนที่สุดครับ เราคงต้องพูดถึงเจ้าพ่อตัวจริงแห่งวงการ Search Engine คือ “กูเกิล” (Google) ผู้มีส่วนทำให้โฉมหน้าโลกเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่งครับ
Search Engine Economy: กำเนิดของเจ้าพ่อกูเกิล
โดยทั่วไป Search Engine เป็น “โปรแกรมการค้นหา” ที่ช่วยสืบค้นข้อมูลโดยใช้ “คำสำคัญ” (Keywords) ในการค้นหาข้อมูล ข้อความ รูปภาพ คลิปวีดีโอ เพลง บนอินเตอร์เน็ตครับ เหตุที่ต้องมีเว็บประเภท Search Engine ก็เนื่องด้วยการจะค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีตัวช่วยค้นหาเปรียบเสมือนเราออกทะเลไปโดยไม่มีแผนที่เดินเรือครับ
แม้ว่าจะมีเว็บท่า หรือ Portal Website เป็นสถานที่พักของเหล่านักท่องเน็ตแล้ว แต่เว็บที่อยู่ในเว็บท่าส่วนใหญ่อาจไม่ได้ตรงกับความต้องการของนักท่องเว็บเหล่านั้นเสียทีเดียว อย่าลืมนะครับว่าการเสิร์ชหรือค้นหาข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตนั้นเปรียบเสมือนการ “งมเข็มในมหาสมุทร” เพราะถ้าเราไม่มีตัวช่วยที่ดีพอประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตก็จะน้อยลงไปถนัดตา
Search Engine ในช่วงต้นเป็นการใช้คำสำคัญค้นหาข้อมูลนะครับเพียงแต่ประสิทธิภาพในการค้นหาอาจจะยังไม่ดีพอ ซึ่งเว็บอย่าง Hotbot, Alta Vista และ Lycos เป็น Search Engine Website ยุคบุกเบิกที่ช่วยให้นักท่องเน็ตสามารถค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการได้บนอินเตอร์เน็ต
Alta Vista และ Lycos สองเว็บ Search Engine ยุคบุกเบิก
แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคในการค้นหาทำให้เว็บเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการ Search Engine เกิดขึ้นในปี 1998 เมื่อสองนักศึกษาปริญญาเอกจากสแตมฟอร์ด (Stamford University) ได้พัฒนา Search Engine Website ขึ้นมาโดยใช้ชื่อเว็บไซต์นั้นว่า “กูเกิล” (Google) ครับ
“กูเกิล” เป็น Search Engine ที่เกิดจากมันสมองของ เซอร์เกรย์ บริน (Sergey Brin) และ แลร์รี่ เพจ (Larry Page) สองนักศึกษาสแตมฟอร์ดที่สร้างตำนานต่อจาก “คู่หู” รุ่นพี่ตั้งแต่ เกตส์ & อัลเลน หรือ หยาง & ไฟโล
กูเกิลของบรินและเพจ พัฒนาให้ระบบ
การค้นหาข้อมูลสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่เว็บไซต์ที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับแรกก่อนหรือ Page Rank ทั้งนี้การจัดอันดับหน้าของข้อมูลหรือเว็บไซต์มีผลดีในเวลาต่อมาเพราะการทำตลาดบนอินเตอร์เน็ตจำเป็นต้องอาศัย Search Engine Marketing กล่าวคือ จะทำอย่างไรให้เว็บไซต์ของตนเองเป็นที่ติดตาและอยู่ในอันดับต้น ๆ ของการค้นหา
เซอร์เกรย์ บริน (Sergey Brin) และ แลร์รี่ เพจ (Larry Page)
สองตำนานผู้สร้าง Google อีกหนึ่งเว็บไซด์ที่เปลี่ยนโลก
อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา กูเกิลกลายเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมที่นักท่องเว็บทุกคนต้องเข้าไปค้นข้อมูลเสมอ ขณะที่วัฒนธรรม “หาอะไรก็ได้ในกูเกิล” ได้กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคนี้ไปแล้ว เพราะกูเกิล พวกเขาสามารถประหยัดเวลาในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารซึ่ง Search Engine อย่างกูเกิลสามารถลดภาระต้นทุนได้อย่างมหาศาลในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
ปัญหาหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวถึงความล้มเหลวของกลไกตลาด (Market Failure) คือ ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร (Imperfect Information) ซึ่งปัญหานี้เองที่ทำให้มีความพยายามแสวงหาข้อมูลข่าวสารให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อช่วยในการตัดสินใจของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งแม้ว่าอินเตอร์เน็ตจะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี้ได้แต่ต้องมีเว็บไซต์ประเภท Search Engine มาเป็นเครื่องมือช่วยเสริมซึ่ง กูเกิลสามารถตอบโจทย์นี้ได้ตรงที่สุด
อย่างไรก็ตามทั้งบรินและเพจ หาได้หยุดแค่การเป็น Search Engine Website เท่านั้นนะครับ เพราะทั้งคู่ต่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อมาตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
กูเกิลทำให้เกิดการตลาดแนวใหม่ที่เรียกว่า Search Engine Marketing (SEM) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดบนอินเตอร์เน็ตที่ทำตลาดผ่านเว็บ Search Engine โดยเฉพาะกูเกิล ซึ่งมุ่งเน้นให้ธุรกิจตนเองติดอันดับต้น ๆ บนหน้าเว็บเพจของกูเกิลทั้งนี้เพื่อโอกาสที่ผู้เข้าชมเว็บจะสามารถเข้าชมได้มากขึ้น
อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าอัตราผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของประชากรทั่วโลกมีนับพันล้านคน นั่นหมายถึงโอกาสที่ประชากรผู้มีความรู้ในการใช้อินเตอร์เน็ต (Internet Literacy) จะเลือกใช้ช่องทางนี้ในการซื้อขายสินค้า ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยน ลงทุน ย่อมมีมากตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้กูเกิลจึงเปรียบเสมือนเป็น “ตัวแทน” ในการวางหรือแปะโฆษณาสินค้าให้กับธุรกิจทั้งหลายที่อยากจะถูกจัดอันดับความน่าสนใจของเว็บไซต์ตัวเองผ่านสายตานักท่องเว็บทั้งหลาย ด้วยโฆษณาที่หลั่งไหลมาแปะบนพื้นที่ของกูเกิลซึ่งไม่ได้มีแค่ภาษาอังกฤษภาษาเดียวนะครับ หากแต่กูเกิลพัฒนา Google Search Engine ในหลายภาษา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งบรินและเพจจะกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีในช่วงเวลาไม่กี่ปี
ปัจจุบันกูเกิลได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น Google Ad Word และ Google Ad Sense ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพียงแค่ให้ผู้มาเยือนเว็บไซต์เรา “คลิก” โฆษณาที่แปะไว้เพียงเท่านี้เจ้าของเว็บไซต์ก็จะได้เงินค่าส่วนแบ่งจากกูเกิล
ขณะเดียวกันกูเกิลยังมีเว็บไซต์ประเภทสร้าง Productivity ให้กับผู้ใช้ เช่น Gmail, Google Earth, Google Map, Google Chrome, Google Buzz และ Google Translation เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่กูเกิลพัฒนาขึ้นมาจากห้องทดลองใน Googleplex ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของกูเกิลใน Mountain View, California
นอกจากนี้กูเกิลยังเทคโอเวอร์ธุรกิจบนโลกออนไลน์ที่กูเกิลเห็นว่าน่าจะเติบโตได้ อาทิ การเข้าเทคโอเวอร์ Youtube เว็บไซต์อัพโหลดคลิปวีดีโอที่โด่งดัง
กูเกิลและยูทูป
พันธมิตรบนโลกออนไลน์
นิตยสาร Fortune ได้จัดอันดับบริษัทที่คนหนุ่มสาวอยากเข้าไปทำงานมากที่สุด ปรากฏว่า กูเกิลติดอันดับกับเขาด้วยนะครับ ด้วยความที่เป็นองค์กรทันสมัยเน้นในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องมากพิธีรีตองแถมรายได้ยังดีอีกต่างหาก ทำให้กูเกิลสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานได้ไม่เว้นแม้แต่ซีอีโอคนปัจจุบันอย่าง อิริค ชมิทช์ (Eric E.Schmidt) ที่เป็นผู้บริหารมืออาชีพรุ่นใหม่ที่เข้ามากุมบังเหียนกูเกิลตั้งแต่ปี 2001 แล้ว
อิริค ชมิทช์ (Eric E. Schmidt)
ซีอีโอหนุ่มผู้กุมบังเหียนกูเกิล
อย่างไรก็ดีในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมากระแสของสังคมออนไลน์หรือ Social Networking ถูกพูดถึงมากที่สุดใน Internet Economy เนื่องจาก Social Networking สามารถสร้างปรากฏการณ์เชื่อมโยงผู้คนในสังคมได้โดยไม่มีเครื่องกีดกันทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษา จนอาจกล่าวได้ว่า Social Networking คือ เครื่องมือที่เข้ามาเติมเต็มให้คำว่า Globalization มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นครับ
Social Networking: วัฒนธรรมใหม่บนโลกออนไลน์
Social Networking คือ การที่ผู้คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตต่างมาพบปะและทำความรู้จักกันผ่านเว็บไซต์ที่สามารถเชื่อมโยงผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหลายเข้ามาสร้างสังคมเครือข่ายออนไลน์ร่วมกัน ซึ่งการสร้างสังคมใหม่บนโลกออนไลน์นี้เองที่เป็นพลังสำคัญที่ผูกโยงให้ผู้คนนับล้านสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมรวมทั้งต่อยอดการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ปัจจุบัน Social Networking ได้รับความสนใจจากนักคิดหลายคนนะครับ ในฐานะที่เป็นการสร้างวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของการรวมตัวของผู้คนในสังคมที่พร้อมจะขยายเครือข่ายออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งในหนังสือเรื่อง The Economies of Online Cooperation: Gifts and Public Goods in Cyberspace (2001) ของ ปีเตอร์ คอลลอค (Peter Kollock) ได้กล่าวถึงแรงจูงใจของผู้คนที่มารวมตัวกันบนโลกออนไลน์ว่า
ประการสำคัญมาจากความต้องการที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่นในสังคม (Anticipated Reciprocity) เช่น การไปตั้งกระทู้โพสต์ในเว็บบอร์ดอย่าง Pantip.com หรือ การเข้าไปตอบกระทู้ที่คนอื่นสงสัย เช่น เข้าไปขอคำปรึกษาหรือความเห็นเกี่ยวกับการซื้อรถยนต์มือสอง ซึ่งคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการซื้อรถมือสองมาก็จะมาโพสต์แชร์คำตอบทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ขณะเดียวกันการเข้ามาร่วมกลุ่มบน Social Networking มาจากความต้องการที่จะสร้างชื่อเสียงหรือแสดงตัวตนให้คนในสังคมออนไลน์ได้รับรู้ว่าตนเองนั้นมีความคิดเห็นเช่นไรหรือมีมุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ อย่างไร เช่น การให้ความเห็นเรื่องการชุมนุมทางการเมืองจนหลายครั้งเกิดเป็นวิวาทะหรือสงครามของ “นักรบไซเบอร์”
อย่างไรก็ดีการเข้ามารวมกลุ่มยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมที่แม้จะอยู่ต่างที่ ต่างเวลาแต่ก็สามารถรับรู้เรื่องราวความเป็นไปของคนอื่นที่อยู่ในเครือข่ายทางสังคมของเราได้ เช่น การอัพโหลดภาพหรือคลิปส่วนตัวแชร์ลงบน Facebook เป็นต้น
เว็บไซต์ Social Networking
เครือข่ายสังคมออนไลน์
อาจกล่าวได้ว่าพลานุภาพที่แท้จริงของ Internet Economy นั้นอยู่ที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ได้ทุกเพศทุกวัย ได้ทุกชาติทุกภาษา ได้ทุกชนชั้นหรือไม่ ซึ่งพลานุภาพดังกล่าวจะบังเกิดได้ก็ต่อเมื่อการใช้อินเตอร์เน็ตสามารถก้าวมาสู่การสร้างสังคมใหม่ร่วมกันที่เป็นไปในการแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์
We - Think ของ ชาร์ล ลีดบีทเธอร์ (Charles Leadbeater)
ภาพจำลองการสร้างสังคมออนไลน์สมัยใหม่
ในหนังสือ We-think: The Power of Mass Creativity (2008) ของ ชาร์ล ลีดบีทเธอร์ (Charles Leadbeater) นักคิดชาวอังกฤษอดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) ได้พูดถึงปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของพลังความคิดสร้างสรรค์ของมวลมนุษยชาติ (Mass Creativity) ที่ถูกขยายโดยเว็บไซต์ Social Networking อย่าง YouTube, Wikipedia หรือ สารานุกรมออนไลน์ที่ใครก็ได้สามารถเข้ามาเขียนความรู้ในสิ่งที่ตนเองมีและต้องการเผยแพร่, MySpace ซึ่งเป็น Social Networking ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน
โดย Mass Creativity นี้ได้ทำให้เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญในการแบ่งปันและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ซึ่ง Charles เองมองว่านี่คือการเติบโตที่สมบูรณ์แบบที่สุดของโลกาภิวัตน์ที่สามารถดึงความคิดของผู้คนทั่วโลกให้เข้ามาร่วมกันผลักดันพลังการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นมา
อย่างไรก็ตามความสำเร็จของเว็บไซต์ Social Networking ในยุคนี้เห็นจะต้องพูดถึง Facebook ที่กำลังจะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของผู้คนในสังคมออนไลน์
Facebook ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี 2004 ครับ ภายใต้โปรเจ็กต์ของนักศึกษาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) นำโดย มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซึ่งได้สร้างเว็บไซต์ประเภท Social Networking ขึ้นมาสำหรับนักศึกษาในฮาร์วาร์ด ด้วยกันเองก่อน ซึ่งคำว่า Facebook หมายถึง หนังสือรุ่นที่มีแต่หน้าของเด็กปีหนึ่งที่ฮาร์วาร์ดเพื่อให้เพื่อนร่วมรุ่นจำหน้ากันได้
อย่างไรก็ดีด้วยความนิยมในตัว Facebook ทำให้ Facebook ขยายไปสู่กลุ่มนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและนักเรียนไฮสคูลในอเมริกา และภายในปีเดียว ซัคเคอร์เบิร์กได้ชักชวนเพื่อนนักศึกษาด้วยกันอีกสองคน คือ ดัสติน มอสโควิซ (Dustin Moskovitz) และ เอดูอาร์โด ซาเวอริน (Eduardo Saverin) ตั้งThefacebook.com LLC, a partnership ก่อนจะได้รับเงินทุนมาปรับปรุงเว็บไซต์ถึง 500,000 ดอลลาร์
หลังจากนั้น Facebook ได้รับเป็นที่รู้จักติดตลาดจากกว่าห้าร้อยล้านคนผู้ใช้งานทั่วโลก นอกจากนี้ซัคเคอร์เบิร์กยังขยาย Facebook ออกเป็นหลายภาษา (รวมทั้งภาษาไทยด้วย) และรายได้หลักของ Facebook มาจากการเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจลงโฆษณา (Banner Ads) รวมไปถึงการโฆษณาแบบ Referral Marketing หรือโฆษณาอ้างถึงแบบปากต่อปากผ่านทางเว็บไซด์ โดยประมาณการรายได้ของ Facebook เมื่อปี 2009 สูงถึง 800 ล้านดอลลาร์ เลยทีเดียวครับ
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)
หนุ่มน้อยจาก Harvard ที่กลายเป็นมหาเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่ครบเบญจเพส
ด้วย Facebook เว็บไซต์ Social Networking ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
กล่าวโดยสรุป พลานุภาพทางเศรษฐกิจของ Internet Economy ที่ผู้เขียนได้กล่าวมาทั้งสี่ตอนนี้คงทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นพัฒนาการของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ มาจนถึงยุค E-Commerce, ยุค Portal Website, ยุค Search Engine และยุค Social Networking ซึ่งในแต่ละยุคนี้เองล้วนสร้าง “ไทคูน” มหาเศรษฐีรุ่นใหม่ขึ้นมาคนแล้วคนเล่า
ทั้งหมดนี้คงพอจะสรุปได้แล้วใช่มั๊ยครับว่ายุคโลกาภิวัฒน์เป็นยุคของการเปิดโอกาสให้กับผู้คนที่รู้จักแสวงหาและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา หากใครมี “วิสัยทัศน์” เห็นได้ไกลกว่าที่คนอื่นเห็น นั่นหมายถึงขุมทรัพย์มหาศาลกำลังรออยู่ข้างหน้า… แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้ากับซีรีส์ชุดใหม่ครับ
เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. www.wikipedia.org
2. We-think: The Power of Mass Creativity (2008), Charles Leadbeater
3. The Economies of Online Cooperation: Gifts and Public Goods in Cyberspace (2001), Peter Kollock