เนื้อหาวันที่ : 2010-11-22 11:57:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 727 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 22 พ.ย. 2553

1. พาณิชย์โชว์ส่งออกต.ค.15.7%ชี้เริ่มชะลอตัว

-  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเดือนต.ค.มีมูลค่าการส่งออก 17,132.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 15.7% แต่อัตราการขยายตัวมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท และแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในตลาดส่งออกสำคัญ


ส่วนการส่งออกในระยะ 10 เดือนของปี 2553 มีมูลค่า 160,277.4  ล้านเหรียญสหรัฐ  เพิ่มขึ้น 29.2% สำหรับการนำเข้ามีมูลค่า 14,810.9  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.5%  ทั้งนี้ในเดือน ต.ค. 2553 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 2,321.8 ล้านเหรียญสหรัฐ


-  สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนต.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มชะลอลงจากฐานที่สูงในปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.5 จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางและค่าเงินบาทที่แข็งค่า


โดยสินค้าอิเล็ทรอนิกส์ขยายตัวชะลอลงมาก ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองในอนาคต คือ คำสั่งซื้อที่อาจลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่จะได้อานิสงส์จากจีนที่อาจมีการเร่งนำเข้าในช่วงปลายปี เนื่องจากใกล้เทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 25.0 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 24.8 - 25.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ก.ย. 53)


2. บริษัทรายใหญ่ในยุโรปสนใจลงทุนในไทยในปี 54

-  รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า บริษัทเอกชนรายใหญ่ในประเทศฝั่งยุโรป เช่น ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี มีความสนใจลงทุนในไทยในปี 2554 มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท  ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์ พลังงานทดแทน และปิโตรเคมี เป็นต้น


-  สศค. วิเคราะห์ว่า การที่มีต่างประเทศมีความสนใจลงในประเทศไทยนั้น สะท้อนให้ เห็นว่านักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของไทย ที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 52 ทั้งด้านการใช้จ่ายในประเทศ และด้านการผลิต


โดยเฉพาะผลผลิตอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกที่ อัตราการใช้กำลังการผลิตเริ่มเต็มศักยภาพ ทำให้จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่ม ทั้งนี้ ในปี 2554 การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.9 – 6.9 ต่อปี)


3.  นักวิชาการเกาหลีใต้เรียกร้องให้ทางการขึ้นดอกเบี้ยและเตรียมรับมือกับเงินทุนไหลเข้า

-  สถาบันเพื่อการพัฒนาเกาหลี (KDI) เรียกร้องให้ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังขยายตัวได้ดี และอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังต่ำเกินไป นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้จัดหามาตรการเพื่อเตรียมรับมือจากผลกระทบของเงินทุนไหลเข้าอย่างรวดเร็ว


-  ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้พิจารณานำมาตรการ withholding tax สำหรับการลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติกลับมาใช้ เพื่อลดความผันผวนของการไหลเข้าออกของเงินทุน หลังจากที่มีการจำกัดการซื้อขายอนุพันธ์สกุลเงินตราต่างประเทศของธนาคารที่ดำเนินการอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับในเดือน ต.ค. 2553 ในขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนของสัญญาล่วงหน้า 3 ปี ลดลง 0.06 จุด มาอยู่ที่ 112.26 และ อัตราแลกเปลี่ยนเงินวอนเกาหลีใต้อยู่ที่ 1,131.5 ต่อดอลลาร์ สรอ.



-  สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศต่างๆในภูมิภาคกำลังพิจารณาหามาตการเพื่อลดความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าออกซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินในภูมิภาค  โดยแนวโน้มที่จะมีเงินทุนไหลเข้าจะทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น  และในส่วนของประเทศไทยเอง พบว่ามีเงินทุนไหลกลับเข้ามา หลังจากที่เงินทุนได้ไหลออกจากตลาดทุนในช่วงหนึ่งเนื่องจากความกังวลเรื่องความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสถานการณ์หนี้สาธารณะในไอร์แลนด์